คณะรัฐบุคคลเสนอให้ "ป๋าเปรม" พึ่งพระบารมีในหลวงแก้วิกฤติการเมือง

ข่าวการเมือง Monday April 14, 2014 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะรัฐบุคคล นำโดย พล.อ.สายหยุด เกิดผล อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระ พล.อ.อ.เทิดศักดิ์ สัจจะรักษะ อดีตรอง ผบ.ทอ. และ ร.อ.ปราศรัย ทรงสุรเวทย์ อดีตผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง"ทางออกประเทศไทย เมื่อยิ่งลักษณ์หมดความชอบธรรมในการปกครองประเทศทั้งทางด้านนิตินัยและพฤตินัย"

พล.อ.สายหยุด กล่าวว่า จากวิกฤติทางการเมืองขณะนี้ กลุ่มรัฐบุคคลได้ย้อนดูประวัติศาสตร์และอำนาจหน้าที่ของส่วนต่างๆ ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา พฤษภาทมิฬ ประเทศเราต่างผ่านวิกฤติมาได้ด้วยพระบารมีของประบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ดังนั้นวิกฤติทางการเมืองในครั้งนี้ ก็เห็นว่าด้วยพระบารมีจะทำให้ประเทศไทยผ่านไปได้ แต่เนื่องจากพระองค์ท่านไม่อาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองได้ ซึ่งคณะรัฐบุคคลเห็นว่าโครงสร้างของเรายังมีตำแหน่งรัฐบุรุษอยู่ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงตำแหน่งที่มีเกียรติศักดิ์ศรี แต่มีหน้าที่ที่รับสนองพระบรมราชโองการ โดยรัฐบุรุษในประเทศไทยขณะนี้ก็มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่จะทำหน้าที่ได้ ในการรับสนองพระบรมราชโองการและพยายามที่จะร่างพระบรมราชโองการขึ้นทูลเกล้าฯเสนอเมื่อเกิดเหตุการณ์บ้านเมืองยุ่งเหยิง

ดังนั้นคณะรัฐบุคคล จึงอยากเสนอให้ รัฐบุรุษทำหน้าที่พูดคุยกับองค์กรต่างๆที่เป็นหลักของบ้านเมืองทั้งตุลาการและทหาร และผู้นำทางสังคม เพื่อร่างพระบรมราชโองการ เสนอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ เพื่อให้ลงปรมาภิไธย แต่กรณีดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับการเสนอใช้พระราชอำนาจ ตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 7 โดยเราเชื่อว่า เมื่อมีพระบรมราชโองการออกมาแล้วสังคมไทยจะยอมรับเหมือนเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ขณะที่หน้าที่ของเราเป็นเพียงการเสนอแนวทางว่าใครมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง ส่วนเนื้อหาร่างพระบรมราชโองการเป็นเรื่องที่ผู้มีหน้าที่ต้องเป็นผู้ดำเนินการและรับผิดชอบ

เมื่อถามว่า ได้มีการนำข้อเสนอนี้แจ้งไปยัง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษ รับทราบและมีการตอบกลับแล้วหรือไม่ พล.อ.สายหยุด กล่าวว่า คณะรัฐบุคคล ได้มอบหมายให้นายปราโมทย์เป็นผู้ประสานไปซึ่งได้มีการส่งไปทั้งในรูปแบบของจดหมายและบทความไปแล้วแต่ยังไม่ได้รับการตอบรับมา ซึ่งการแถลงข่าวครั้งนี้เราต้องการให้ทุกฝ่าย รวมถึงสื่อมวลชนเข้าใจเนื้อหาดังกล่าว หากสื่อมวลชนเห็นด้วยก็จะได้ช่วยกันเรียกร้องดำเนินการแนวทางดังกล่าว ขณะที่เราเห็นว่าแนวทางดังกล่าวสามารถดำเนินการได้เลยในขณะนี้เพราะเราเห็นว่าประเทศมีปัญหามากแล้ว ไม่ต้องรอให้เข้าสู่สภาวะสุญญากาศ เพราะสถานการณ์ไปถึงขนาดฝ่าย กปปส. สามารถปฏิรูปแล้วตั้งรัฐบาลใหม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งก็คงจะออกมาต่อต้านใหม่แล้วดำเนินการเหมือนกปปส.ในขณะนี้ สุดท้ายสถานการณ์ก็ยังจะไม่ยุติลง

ด้านนายปราโมทย์ กล่าวยืนยันว่า ข้อเสนอนี้ไม่ได้เป็นการบีบคั้นแล้วทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทเหมือนที่หลายฝ่ายโจมตี ว่าเราเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่พูดจาเลอะเทอะ โดยแนวทางของกลุ่มได้มีการศึกษาและย้อนดูประวัติศาสตร์แล้ว และเราในฐานะประชาชนก็มีสิทธิและหน้าที่ในการตรวจสอบให้ทุกฝ่ายได้ทำหน้าที่ของตน

ขณะที่นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดี คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่ได้มาร่วมงานแถลงข่าวในครั้งนี้กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่าจะเป็นข้อเสนอที่เหมาะสมตามหลักรัฐศาสตร์ด้วยหรือไม่ ว่าแนวทางเรื่องของรัฐบุรุษดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในหลายแนวทางที่สังคมพยายามหาทางออก แต่ก็คงมีประเด็นสำคัญในเรื่องช่วงเวลาว่าต้องรอให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองหรือไม่ โดยคณะรัฐบุคคล มองว่าไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดสุญญากาศ แต่อีกมุมมองหนึ่งอาจมองว่าต้องให้มีสุญญากาศซึ่งจะเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 7 ซึ่งจะให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้เสนอและรับสนองพระบรมราชโองการ ขณะที่ตนคิดว่าในแง่ของคนไทยต่างฝ่ายต่างก็คิดว่าจะแก้ปัญหาและวิกฤติที่เกิดขึ้นขณะนี้ ความหลากหลายทางความคิดจึงเกิดขึ้นบนพื้นฐานที่อยากให้วิกฤติของชาติยุติลงและหาทางออกได้ ดังนั้นแนวทางใดถึงเส้นชัยก่อนตนก็คิดว่าเป็นความพยายามของสังคมในการที่จะหาทางออก

นายบรรเจิด ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยสถานภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีการย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคง ( สมช.) ด้วยว่า กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความแตกต่างกับกรณีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกร้องให้สิ้นสุดสถานภาพ ส.ส. กรณีการหนีการเกณฑ์ทหาร เพราะเมื่อยุบสภา นายอภิสิทธิ์ ก็สิ้นสุดจากการเป็น ส.ส. ไปโดยปริยาย แต่กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังคงปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีอยู่ โดยรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 182 บัญญัติว่าความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงเฉพาะตัวด้วยเหตุ การตาย ลาออก ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และขาดคุณสมบัตรหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 174 เมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่พ้นสภาพการเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาตราดังกล่าว ประเด็นที่มีการกล่าวหาศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจที่จะรับวินิจฉัยได้ แต่ถ้าระหว่างนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลาออกแล้วฐานะความเป็นรัฐมนตรีย่อมสิ้นสุดลงเฉพาะตัว แล้วจะทำให้วัตถุแห่งคดีที่ศาลจะทำการวินิจฉัยหมดไป ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยอีก และถ้านายกรัฐมนตรีพ้นจากสภาพแล้วส่วนตัวก็มองว่าในทางปฏิบัติและหลักรัฐศาสตร์ คณะรัฐมนตรีก็ไม่น่าจะอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไป แต่อาจกรณีนี้อาจมีการตีความอย่างหลากหลาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ