กมธ.ตัดลดงบฯปี 58 กว่า 1.6 หมื่นลบ.เตรียมบรรจุเข้าวาระ 2 และ 3 ตามกรอบเวลา

ข่าวการเมือง Thursday September 4, 2014 13:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 คาดดำเนินการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบฯ เสร็จเรียบร้อยตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ โดยตัดลดงบประมาณลงไปทั้งสิ้น 16,823 ล้านบาท ในส่วนนี้เป็นการตัดงบโบนัสข้าราชการ 5,000 ล้านบาทออกด้วย แต่ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.) ไปออกหลักเกณฑ์เพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อนเสนอรัฐบาลอนุมัติอีกครั้ง

"การประชุมกรรมาธิการนัดสุดท้ายวันพรุ่งนี้(5 ก.ย.) จะสรุปข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ก่อนส่งไปยังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจัดพิมพ์และส่งให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พร้อมจะบรรจุเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ เบื้องต้นมีสมาชิก สนช.ลงชื่ออภิปรายไว้ประมาณ 10 คน ซึ่งคาดว่าใช้เวลาพิจารณาเพียงวันเดียวน่าจะเพียงพอ แต่หากไม่แล้วเสร็จก็สามารถขยายเวลาได้อีก โดยทั้งหมดเป็นไปตามกรอบเวลาที่วางไว้" พล.ท.ชาตอุดม ติตถะสิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าว

ทั้งนี้จากกรอบวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 2.575 ล้านล้านบาท กรรมาธิการฯ ได้ปรับลดลงทั้งหมด 16,823 ล้านบาท เอาไปไว้ในงบกลางกรณีสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อไว้ใช้สำหรับการแก้ปัญหา หากหน่วยราชการใดต้องการใช้งบแก้ปัญหาสำคัญ ซึ่งเป็นการปรับลดทุกหน่วยงาน โดยกระทรวงที่ปรับลดลงมากที่สุดคือกระทรวงคมนาคม และงบฯกลาง และในจำนวนนั้นได้ตัดลดค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐหรือโบนัสข้าราชการ 5,000 ล้านบาทลงไปด้วย เพราะทุกปีที่ผ่านมายังไม่เป็นมาตรฐาน แต่ให้ กพร.ไปพิจารณาออกหลักเกณฑ์ให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยเสนอรัฐบาลพิจารณาอีกครั้ง นอกจากนี้ยังปรับลดงบดูงานต่างประเทศ งบจ้างที่ปรึกษา งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของแต่ละหน่วยงานลงเกือบ 200 ล้านบาท และงบที่ดินสิ่งก่อสร้าง

"เรื่องดังกล่าวมีความละเอียดอ่อนอาจมีแรงกระเพื่อม แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีนโยบายเพิ่มเงินเดือนให้กับข้าราชการอยู่แล้ว" พล.ท.ชาตอุดม กล่าว

พล.ท.ชาตอุดม มั่นใจว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ทันในวันที่ 1 ต.ค.นี้ และทุกหน่วยงานต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสที่ 1 และ 2 ให้มากกว่าปกติ เพราะอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว รวมทั้งต้องชี้แจงรายละเอียดในการใช่จ่ายเงินงบประมาณทุก 3 เดือน เพื่อให้เกิดการตรวจสอบและโปร่งใส ทั้งนี้หัวหน้า คสช.อนุมัติมาตรการเร่งจ่ายเงินเป็นรายไตรมาส โดยปีหน้าจะเร่งจ่ายไตรมาสที่ 1 และ 2 ให้ได้มากกว่าปีที่ผ่านมา เพื่อให้มีเงินอัดฉีดในระบบ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ