นายกฯ ปัดข่าวขัดแย้งในกองทัพหลังเปลี่ยนผบ.ทบ.,ไม่ห้าม"บวรศักดิ์" นั่งที่ปรึกษากรธ.

ข่าวการเมือง Thursday October 8, 2015 14:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ปฏิเสธไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในกองทัพบก หลังเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) คนใหม่ เพราะทั้งคู่เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน

ส่วนการทุบกำแพงและสิ่งปลูกสร้างในกองทัพบกทั้งที่เพิ่งสร้างเสร็จนั้น หากไม่ถูกต้องก็จะมีการสอบสวนว่าใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาหลังพ้นจากตำแหน่งตนเองไม่ได้เข้าไปในกองบัญชาการกองทัพบกอีกเลย แต่มองเรื่องที่เกิดขึ้นว่าแต่ละคนมีความคิดและมุมมองของตัวเอง ไม่ได้ทะเลาะหรือแตกแยก เว้นแต่สื่อจะนำเสนอไปเอง

"มันคนละเรื่อง จะยุแยกแตกคอไม่ได้อยู่แล้ว คนละตำรามั้ง ผมไม่ได้เป็น ผบ.ทบ.นะ เดี่ยวถ้าไม่ดีเขาก็สอบกันเอง ให้เขาทำงาน ผมไม่ได้เข้าไปเลยจะปีหนึ่งแล้ว ผมมองว่าเป็นเรื่องคนละความคิดกัน แต่ไม่ได้ทะเลาะกัน เพื่อนกันทะเลาะกันได้อย่างไร ผมอยู่ตรงนี้ทะเลาะกันไม่ได้อยู่แล้ว เว้นแต่สื่อเขียนให้ทะเลาะกัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

กรณีดังกล่าวทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะเข้าไปแก้ไขปัญหาได้หรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเองดูแลทั้งหมด ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ดูแลในกรอบที่รับผิดชอบอยู่แล้ว แต่ขออย่าไปสร้างกระแสว่าอาจจะเกิดการปฏิวัติซ้อน เพราะเป็นเรื่องไม่จริง ตนเองมั่นใจว่าควบคุมได้ ตราบใดที่ตนเองยังอยู่ในตำแหน่งก็จะดูแลให้ทั้งหมด

ส่วนการตั้งที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนควรจะเป็นนายบวรศักดิ์ อุวรรณโน อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากมีคุณสมบัติพร้อมเหมาะสมก็ไม่ได้มีข้อห้าม และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ฉบับแก้ไขก็ไม่มีห้ามไว้ ขณะเดียวกันทุกคนมีความสามารถและขับเคลื่อนงานมาก่อน และถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ก็เห็นว่า ควรจะหยิบยกร่างเก่าที่ดีมาพิจารณาต่อ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นหัวใจหลักของชาติ ให้ขับเคลื่อนการบริหารประเทศไปข้างหน้า แต่ก็ไม่ได้แก้ไขทุกอย่างได้ เพราะอยู่ที่ใจของคนด้วยที่จะต้องช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบแต่หากยังขัดแย้งกันอยู่ กฎหมายไหนก็ไม่สามารถช่วยได้ และอย่ามาเรียกร้องว่ารัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างเดียว ทุกอย่างต้องมีจรรยาบรรณด้วย

สำหรับการลงพื้นที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.)ที่ จ.สุราษฏร์ธานี นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจ ซึ่งจะพิจารณาอีกครั้ง และตนเองพร้อมที่จะลงทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยจะให้ กรอ.จังหวัดได้ขับเคลื่อนงานไปก่อนที่ตนเองจะไปติดตามงานในทุกภาคของไทย โดยการลงพื้นที่จะไปขับเคลื่อนงานด้านอื่นๆด้วย และพร้อมสนับสนุนงบกลางในเรื่องที่จำเป็นและเกิดประโยชน์สูงสุดของพื้นที่นั้นๆ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงพื้นที่ไม่ได้ต้องการคะแนนเสียง หรือเลือกไปแค่จังหวัดที่ชื่นชอบตนเองเท่านั้น เพราะไม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำงาน แต่อาสาสมัครเข้ามาทำหน้าที่เอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ