นายกฯ ย้ำปรองดองไม่มีกำหนดระยะเวลา ยึดตามหลักกม.-ไม่เลือกปฎิบัติ

ข่าวการเมือง Thursday October 8, 2015 16:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงหลักการสร้างความปรองดองที่ทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและเป็นไปตามหลักกฎหมายว่า ไม่ได้กำหนดระยะเวลา ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยได้สั่งการให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เริ่มการปฎิรูปในระยะที่ 1 ไปแล้ว และต้องดำเนินการต่อในระยะเวลาโรดแมพที่ขยายออกไปจากขั้นตอนของการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเน้นการบูรณาการทำงานของทุกกระทรวงทุกหน่วยงาน เช่น การตั้งคณะกรรมการซุปเปอร์บอร์ดที่ไม่เคยมีการตั้งมาก่อน พร้อมปรับรายละเอียดการทำงานทุกหน่วยงานให้ชัดเจน รวมถึงปรับกฎหมาย ซึ่งจากการดำเนินการก็เห็นผลการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การติดตามตัวผู้กระทำผิดในคดีระเบิด

นอกจากนี้ยังสร้างระบบการใช้จ่ายงบประมาณที่สอดคล้องกัน ซึ่งต้องกับการปฎิรูปที่การนำเรื่องเดิมมาปรับปรุงทำใหม่ให้ดีขึ้น ขณะที่การนำมาตรา 44 มาใช้ก็เพื่อให้เกิดความมั่นคงในทุกด้าน เช่น ความมั่นคงด้านพลังงาน การป้องกันประเทศ ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สร้างเสถียรภาพให้ประเทศทั้งในส่วนของภาครัฐและการเมือง วันนี้ตนเองไม่ใช่นักการเมืองแต่ต้องเข้ามาทำงานการเมือง ซึ่งต้องทำให้การเมืองนิ่ง เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับต่างประเทศ เพื่อการลงทุน แต่หากว่าทุกคนยังขัดแย้งกับตนเอง อนาคตจะไม่มีนักลงทุนเข้ามา เพราะนักลงทุนระบุว่า อยากให้ประเทศไทยเป็นอย่างที่ตนเองเข้ามาบริหารราชการในขณะนี้ ซึ่งตนเองก็หวังว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาสามารถดำเนินการต่อได้ และไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง

"แกล้งตายไม่ได้ ต้องตายจริงสิ แสดงว่ามีการกระทำผิดกฏหมายหรือไม่ หรือว่าหยุดกระทำความผิดด้วยหรือไม่ ไม่ห่วงพวกแกล้งตายหรอก กฏหมายเขามีอยู่ ทำผิดก็โดนจับ กฏหมายล้อเล่นได้ที่ไหน ไม่ใช่เอากฏหมายมาสู้กัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาเป็นปัญหาของการทำให้กฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้ มีการเลือกปฏิบัติ และย้ำว่ารัฐบาลไม่เคยเลือกปฏิบัติ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ใครทำผิดก็ว่าไปตามผิด ส่วนผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการ เมื่อสิ้นสุดแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่มีอยู่ เช่น การผ่อนผันบรรเทาโทษหรือลดโทษ และอาจจะไปถึงนิรโทษกรรม ดังนั้นจึงต้องมีกลไกเดินหน้าปฏิรูปและสร้างความปรองดอง ลดความขัดแย้ง เพราะรัฐบาลหน้าเข้ามาจะทำหรือไม่ ตนเองไม่สามารถรู้ได้ เพราะกลไกที่มีขึ้น เป็นเพียงการวางกรอบกว้างๆ เพื่อแก้ปัญหาหลัก เช่น ลดความเหลื่อมล้ำ แม้ตนเองจะใช้แนวทางข้าราชการในการทำงานแต่ก็รับฟังความเห็นของทุกคน คำนึงถึงประชาชนทุกกลุ่ม และไม่มีการทำเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และมีความเป็นห่วงประเทศจึงต้องเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ