นายกฯส่งสารถึงคนไทยแจงร่างรธน.แก้เผด็จการรัสภา-ปราบคอรับชั่นสู่ปฏิรูป

ข่าวการเมือง Saturday October 10, 2015 11:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำสารจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ส่งถึงประชาชน มาแจ้งให้ทราบผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบวิสัยทัศน์ให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ขอให้มองที่ปัญหาของประเทศไทยในห้วงหลายปีที่ผ่านมา นำมาตั้งเป็นโจทย์ แล้วหาวิธีแก้ปัญหาด้วยกระบวนการประชาธิปไตยที่เหมาะสม ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก ไม่นำประชาธิปไตยหรือแนวคิดเสรีภาพที่ไร้ขีดจำกัดมาเป็นตัวตั้ง โดยไม่มองปัญหาที่แท้จริง แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่หากทุกคนไม่ปฏิบัติตาม พยายามหาช่องว่าง อ้างเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยไม่คำนึงว่าจะกระทบสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นหรือไม่ บ้านเมืองก็จะไม่มีเสถียรภาพ

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบแนวทางให้ประธาน กรธ. ต้องดำเนินการต่อเนื่องจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นสำคัญคือต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เนื่องจากที่ผ่านมามีการบิดเบือนว่าฟังแต่เสียงของคนชั้นสูง จึงยืนยันว่าประเทศไทยไม่มีคนชั้นสูง ชั้นกลาง หรือชั้นต่ำ คำพูดเหล่านี้ เป็นเพียงวาทกรรมของนักการเมืองที่พยายามสร้างความแตกแยกในบ้านเมือง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง แม้กระทั่งการบังคับใช้กฎหมายในมาตรา 112 ก็มีการกล่าวหาว่า คสช.และรัฐบาลใช้เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม ทั้งที่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การกระทำความผิด ทั้งการพูด การชุมนุม หรือโซเชียลมีเดียในประเทศและต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ก็มีคำถามว่าเหตุใดรัฐบาลไม่แก้ไขในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงขอชี้แจงว่าตั้งแต่ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ส่วนราชการ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ดำเนินการมาโดยตลอด แต่กลุ่มนี้ยังคงใช้เทคนิคในการหลบเลี่ยงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็สนับสนุนกลุ่มผู้ไม่หวังดี สร้างข่าวลือทำลายความเชื่อมั่นของประเทศ โดยผู้มีอำนาจบริหารประเทศในช่วงนั้นไม่ห้ามปราม และหลังจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ยังมีการกระทำเช่นนั้นอยู่ ขณะที่ คสช.และรัฐบาลพยายามป้องกันอย่างเต็มที่ แต่การป้องกันนั้นทำได้ยาก เพราะกลุ่มบุคคลเหล่านี้ยังอาศัยเทคโนโลยีไปเปิดเว็บไซต์ใหม่อีก เมื่อเจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบ จนสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ ก็จะมีการสร้างเครือข่ายขึ้นมาต่อต้านอ้างสิทธิมนุษยชน และในที่สุดก็หนีไปต่างประเทศ

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า สารของนายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า รัฐบาลและ คสช.ต้องการขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วน ตลอดจนนักการเมือง กลุ่มการเมือง นักวิชาการ ได้แสดงความเห็นต่อการร่างรัฐธรรมนูญผ่านช่องทางที่ กรธ. จัดไว้ น่าจะเหมาะสมกว่าการแสดงความเห็นผ่านช่องทางสื่อมวลชน เพราะอาจทำให้สังคมสับสนว่าเรื่องใดเป็นข้อเท็จจริง หรือเป็นเพียงการตีความไปเอง และมองว่าสิ่งสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ คือ จะต้องแก้ไขเรื่องเผด็จการรัฐสภา การทุจริตประพฤติมิชอบ และการกระทำผิดกฎหมาย รวมทั้งจะทำอย่างไรให้การตรวจสอบและการถ่วงดุลของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมีความสมดุล ตลอดจนการป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่มีการแบ่งแยกประชาชนเป็นฝักเป็นฝ่าย ทำอย่างไรให้ข้าราชการไม่เสียกำลังใจ ไม่ถูกกดดันจากฝ่ายการเมือง

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับว่าการปฏิรูปให้เกิดความยั่งยืน อาจต้องใช้เวลานาน ไม่ใช่เพียง 1-2 ปี แต่ไม่ได้หมายความว่า คสช.จะอยู่จนจบ เพียงแต่ต้องเริ่มต้นปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ค้างมาเป็นเวลานาน โดยปฏิรูปในเรื่องต่าง ๆ แล้วส่งต่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการต่อไป โดยมีกลไกควบคุมให้เป็นตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ครอบคลุมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 12 เป็นต้นไป โดยรัฐบาลจะต้องนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ทุกหน่วยราชการจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งกลไกดังกล่าวต้องไม่ก้าวก่ายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล แต่จะต้องสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาได้ โดย คสช.และรัฐบาลคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างในขณะนี้ ประชาชนทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันแสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการสร้างความปรองดอง ที่มีการอ้างว่าต้องนิรโทษกรรมทันที ประเทศชาติจึงจะสงบสุข แต่ก็ต้องตั้งคำถามกลับไปว่ากระบวนการยุติธรรมหายไปไหน หากยอมรับข้อกล่าวหา แล้วเข้ามาต่อสู้คดีความตั้งแต่แรก คงไม่เกิดปัญหา ไม่ต้องมี คสช. ไม่ต้องมีประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยรัฐบาลเชื่อมั่นว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นตรงกันว่า การสร้างความปรองดอง คือ การสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยยึดมั่นในกฎหมาย ไม่ใช่ละเมิดความถูกต้องของกฎหมาย ใครผิดก็ยังต้องถูกลงโทษโดยกระบวนการยุติธรรมอย่างเด็ดขาด รัฐบาลจึงอยากให้ประชาชนพิจารณาข้อเสนอของนักการเมืองและนักวิชาการบางคนว่าได้ให้ข้อมูลที่เกิดประโยชน์กับประเทศชาติหรือไม่

ทั้งนี้สิ่งที่ คสช.และรัฐบาลทำอยู่ทุกวันนี้ เพื่อไม่ให้ประเทศชาติและประชาชนกลับไปอยู่ในสถานการณ์เช่นเดิมอีก รัฐบาลไม่ต้องการเป็นศัตรูกับใคร แต่ยืนยันว่าจะไม่ยอมให้ใครที่มุ่งร้ายต่อสถาบัน และทำร้ายประชาชน มากดดันการทำงานของ คสช. รัฐบาล และ กรธ. ในการทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงประเทศไทย และรัฐบาลหวังว่าการเข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศของทหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จะเป็นการแก้ปัญหาโดยทหารครั้งสุดท้าย

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า ในสารของนายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องมีทั้งที่เป็นสากล ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงบ่อย และมีทั้งกระบวนการ กลไก สำหรับช่วงระยะเวลาหนึ่งที่จะปฏิรูปประเทศ จนมีเสถียรภาพ และไม่ฝืนกติกา เพื่อพัฒนาการเมือง นักการเมือง ประชาชนทุกภาคส่วนให้มีความรัก ความสามัคคี ปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองที่ถูกต้อง บังคับใช้กฎหมายได้อย่างเป็นธรรม ที่สำคัญที่สุดประชาชนทุกคนต้องช่วยให้กำลังใจคนที่ตั้งใจ มุ่งมั่น ซื่อสัตย์ อย่าปล่อยให้ถูกกดดัน จนเสียกำลังใจจากผู้ที่ไม่รักประเทศชาติอย่างแท้จริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ