"ยิ่งลักษณ์" เตรียมยื่นจม.เปิดผนึกให้นายกฯ พรุ่งนี้ ขอความเป็นธรรมคดีจำนำข้าว

ข่าวการเมือง Monday October 12, 2015 11:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมทำจดหมายเปิดผนึกมอบให้ทนายความนำไปส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในวันพรุ่งนี้ เพื่อขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับการดำเนินคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว โดยเรียกร้องให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นไปตามกระบวนการทางยุติธรรม ไม่มีการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซง

โดยเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า ช่วงเวลากว่า 1 ปีเศษนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเป็นหัวหน้า คสช.เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตนเองถูกดำเนินการในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว ทั้งที่เป็นการดำเนินนโยบายสาธารณะที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภา ได้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ตำแหน่งดังกล่าวไม่มีอยู่และรัฐธรรมนูญได้สิ้นสุดลงแล้ว, อัยการสูงสุดแถลงสั่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อนที่ สนช.จะมีมติถอดถอนเพียง 1 ชั่วโมง

อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ทั้งสองกรณีนั้น นายกรัฐมนตรีอาจจะกล่าวว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อัยการสูงสุด และของศาลที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม แต่มีการดำเนินการที่บางอย่างที่เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง คือ การดำเนินการให้มีการเรียกร้องค่าเสียหายทางคดีแพ่งต่อการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว ที่นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 448/2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2558 และให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า "ผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก หากผิดก็มีกลไกอยู่แล้ว เรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายทางคดีแพ่ง และยืนยันใช้มาตรฐานเดียวกับทุกพวกทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ"

"ดิฉันคาดหวังว่าท่านคงต้องให้นโยบายต่อคณะกรรมการฯ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยไม่ละเลยประเด็นความยุติธรรม ตามกลไกของระเบียบที่มีอยู่อย่างไม่เร่งรีบและไม่รวบรัด ให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอและเป็นธรรม" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ

อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตามที่ปรากฏต่อสาธารณะโดยทั่วไปว่าฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลมีความหนักใจที่รัฐต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายซึ่งต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมศาลเป็นจำนวนมาก แต่ในอดีตที่ผ่านมาถือได้ว่าศาลเป็นกลไกตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อการเรียกร้องค่าเสียหายในคดีแพ่ง ซึ่งต้องใช้สิทธิทางศาลโดยสุจริต แต่ฝ่ายกฎหมายของรับบาลกลับพลิกมุมกฎหมายและกลไกในการเรียกค่าเสียหายใหม่ โดยหากพบว่ามีความผิด รัฐจะไม่ฟ้อง แต่ใช้วิธีออกคำสั่งทางปกครอง(โดยไม่ต้องเข้าคณะรัฐมนตรี) สั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องชำระหนี้เหมือนคำสั่งยึดทรัพย์ เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมในการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่จะต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งเท่ากับนายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นคำพิพากษาของศาล เป็นกลไกในการชี้ถูกผิดว่าจะให้ผู้ใดรับผิดชอบในค่าเสียหายต่อการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว ทั้งที่การพิจารณาคดีของศาลในคดีอาญายังไม่เสร็จสิ้น

อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ดิฉันเห็นว่าเรื่องที่ดิฉันกล่าวมาทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องระหว่างตัวของดิฉันในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีผู้เคยดูแลการแก้ปัญหาสินค้าข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ เพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลเป็นประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม มีกลไกบริหารนโยบายคือคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ซึ่งในปัจจุบันคือคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน

"ดิฉันเสนอว่าควรให้ศาลเป็นผู้พิจารณานั้น เพราะดิฉันเห็นว่าทุกคนควรได้รับหลักประกันแห่งความยุติธรรม ที่จำต้องมี เพราะการดำเนินนโยบายโครงการรับจำนำข้าวเป็นการกระทำทางการบริหารตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญที่มีผลผูกพันกับส่วนราชการหลายส่วนที่ต้องปฏิบัติงาน ดังนั้นเพื่อความโปร่งใสและคงไว้ซึ่งความเป็นกลาง ท่านในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว และในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหาในเรื่องข้าวในขณะนี้ ซึ่งอาจเห็นแตกต่างกันในเชิงนโยบายและกลไกในการบริหารนโยบายในเรื่องข้าวในอดีต ที่ในสมัยรัฐบาลดิฉันได้ดำเนินนโยบายดังกล่าวไป จึงมิใช่ผู้ที่เป็นกลาง แต่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย เพราะเห็นต่างกันในนโยบายการแก้ปัญหาในเรื่องข้าว ดังนั้นการใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นผู้ตัดสินความถูกผิดโดยการใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งทางปกครองเพื่อสั่งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดชำระค่าเสียหาย ทั้งๆ ที่ศาลยังไม่มีคำตัดสิน ถือเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างยิ่ง" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ

อดีตนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ 1.พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาทบทวน และยุติการดำเนินการใดๆ ที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลเสนอ และดำเนินการให้ใช้อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าวในปัจจุบัน ลงนามทำคำสั่งทางปกครองใดๆ อันขัดต่อหลักความเป็นกลาง และเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อมีคำสั่งให้บุคคลใดชำระหนี้ค่าเสียหาย อันเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายโครงการรับจำนำข้าวที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา แทนการพิจารณาและพิพากษาคดีของศาล

2.หลังผลการสอบสวนโดยกระบวนการสอบสวนที่ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย และหลักนิติธรรมเสร็จสิ้น หากพบความเสียหาย รัฐเองควรให้หน่วยงานของรัฐฟ้องคดีต่อศาล เพื่อแสดงให้เห็นว่าท่านมีความยุติธรรมและเที่ยงธรรมต่อทุกคนที่ถูกกล่าวหา

3.การพิจารณาคดีอาญาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่เสร็จสิ้น และอายุความในคดียังเหลือเวลาอีกนาน ตามที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลแถลง จึงไม่ควรเร่งรีบ รวบรัด ในการทำสำนวนการตรวจสอบความรับผิดทางละเมิด ควรให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องหรือผู้เสียหายได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอ และเป็นธรรมต่อตนเอง ซึ่งตนเองได้มีหนังสือหลายฉบับมาถึงนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการฯ แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาและไม่แจ้งเหตุ ซึ่งสามารถตรวจสอบความมีอยู่จริงของหนังสือนั้นได้

"ดิฉันได้มอบหมายให้ทนายความไปยื่นหนังสือถึงท่านในวันอังคารที่ 13 ตุลาคม 2558 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล และหวังว่าเมื่อท่านได้รับหนังสือแล้ว ท่านคงจะไม่เพิกเฉย และจะได้พิจารณาด้วยความเป็นธรรม เพราะท่านได้ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ