ประธานกรธ. หนุนพรรคการเมืองเปิดรายชื่อนายกฯ ก่อนเลือกตั้ง

ข่าวการเมือง Wednesday November 11, 2015 18:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวระหว่างการพิจารณาข้อเสนอทางเลือกของอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหารที่มีนายอภิชาต สุขัคคานนท์ เป็นประธานว่า สำหรับบ้านเราที่ใช้ระบอบการเมืองแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เมื่อจะให้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงก็เป็นไปไม่ได้ เพราะจะเกิดปัญหายุ่งยากตามมา ดังนั้นวิธีที่อนุกรรมการฯ เสนอเป็นการผสมผสานออมชอม คือ พรรคต้องไปหารือว่าจะเสนอใครมาให้ประชาชนเห็นว่าหากตั้งรัฐบาลแล้วจะเอาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี แปลว่าวันที่เราไปลงคะแนน เราจะรู้ทั้งใครจะเป็น ส.ส. และใครจะมีโอกาสมาเป็นนายกรัฐมนตรีนำพาประเทศของเราพร้อมๆ กันไป วิธีนี้น่าจะทำให้ประชาธิปไตยเราเดินก้าวอีกขั้น รู้ล่วงหน้าว่าใครจะนำพาประเทศในการบริหารบ้านเมือง

ข้อดีของวิธีนี้ คือ 1.คนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจะผ่านความเห็นชอบจากประชาชนมาทางอ้อมแล้ว โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องจดแจ้งรายชื่อไว้ที่ กกต. แล้วไปโฆษณาหาเสียงได้ คนจะรู้ทั่วไปว่าพรรคนี้ถ้าเป็นรัฐบาลจะเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรี 2.ถ้าเราให้เขาเสนอได้มากกว่า 1 ชื่อ โอกาสเลือกเขาจะมีมากขึ้น เพราะ ณ วันที่เลือกตั้งอาจคิดว่าหมายเลข 1 เป็น แต่หลังเลือกตั้งเกิดง่อยเปลี้ยเสียขาหรือมีอันเป็นไปก็ไม่รู้ทำไง เขาก็ยังมีตัวเลือกอื่น

3.ไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเลือกใครตามอำเภอใจมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ประชาชนไม่รู้เห็นมาก่อน เพราะถูกจำกัดไว้ด้วยรายชื่อ 4.ประชาชนไปลงคะแนนจะมีความหมายมากขึ้น เลือกทั้งคนทั้งพรรคทั้งนายกรัฐมนตรีด้วยบัตรใบเดียว 5. พรรคจะได้รับการมองจากประชาชนที่เข้มงวดขึ้น เพราะต้องคิดอ่านล่วงหน้าว่าเมื่อชนะจะเอาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กรธ.ยังพิจารณาต่อว่า การจะปล่อยให้พรรคการเมืองเสนอชื่อซ้ำได้หรือไม่ หรือป้องกันพรรคเล็กกลายเป็นนอมินีเพียงเพื่อฝากรายชื่อผู้มีอิทธิพล หรือมีอำนาจเงินที่อยากเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ หรือกรณีควรจะให้มีลำดับความชัดเจนว่ารายชื่อทั้ง 5 จะต้องได้รับการเสนอชื่อตามลำดับก่อนหลังหรือไม่ รวมทั้งผู้ที่จะถูกเสนอชื่ออาจต้องกำหนดคุณสมบัติที่รัดกุมขึ้น

ประธาน กรธ. กล่าวว่า ในเบื้องต้นควรจะมีเงื่อนไขคือ 1.การเสนอชื่อบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นมติของพรรคการเมืองนั้น ไม่ใช่ใครหรือผู้บริหารพรรคกำหนดเอง 2.ผู้ที่ถูกเสนอชื่อต้องยินยอมด้วย และ 3.รายชื่อที่เสนอไว้จะเอามาลงมติเพื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้จะต้องมาจากรายชื่อของพรรคที่มี ส.ส.ในสภาอย่างน้อยจำนวนหนึ่งเท่านั้น ป้องกันการตั้งพรรคเพียงเพื่อเสนอชื่อเท่านั้น

"ที่ผ่านมาเราวนเวียนกับปัญหาที่มาของนายกรัฐมนตรีว่าต้องเป็นหรือไม่เป็น ส.ส. เพราะปัญหาเกิดจากวิกฤตในอดีต ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกัน แต่การกำหนดว่านายกรัฐมนตรีต้อง ส.ส.ก็มาคิดว่าเมื่อให้ผู้แทนทั้งสภาเลือกแล้ว แล้วจะไปกำหนดอีกทำไมว่าจะต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น ซึ่งในอดีตไม่มีหลักประกันว่าประชาชนเขาเห็นด้วยที่จะให้ ส.ส.คนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่

ที่ไหนไม่เคยมี แต่ประเทศไทยเคยมี การส่งคนอื่นเป็นตัวแทนลงสมัคร ส.ส. เวลาที่ตัวเองถูกตัดสิทธิ์ลงสมัคร ส.ส.ไม่ได้ แล้วเกิดจับพลัดจับผลูคนนั้นถูกเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนไม่หงายหลังกันหมดเหรอ แม้ว่าในระบบที่ผ่านมาเรายอมให้เอานายกฯ มาจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ แต่ถามว่าเวลาที่ประชาชนลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อหรือเลือกพรรคได้เห็นรายชื่อทั้งหมดหรือไม่ ผมว่า 99% ไม่ได้สนใจไปดู หรือดูแล้วจำไม่ได้ แต่ไปเลือกพรรค แต่ ส.ส.บัญชีก็มาเป็นนายกฯ ได้ ก็เหมือนกับเอาใครก็ได้ที่พรรคกำหนดมาให้เป็นนายกฯ แต่ในแนวทางใหม่นี้จะต้องเอาเพียง 1 ใน 5 คนที่เสนอชื่อเท่านั้น หรือกรณี 2 พรรคเป็นรัฐบาลผสม รายชื่อก็จะไม่เกิน 10 ชื่อเป็นต้น" นายมีชัย กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ