"นิด้าโพล"หนุนพรรคการเมืองเปิดชื่อคนชิงนายกฯก่อนเลือกตั้ง

ข่าวการเมือง Sunday November 22, 2015 10:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ที่มาของนายกรัฐมนตรี" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16 – 18 พ.ย. จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเสนอรายชื่อผู้ที่จะให้เป็นนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง

จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีหากรู้ว่าพรรคการเมืองจะเสนอผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จะมีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.18 ระบุว่า มีผล ขณะที่ ร้อยละ 29.26 ระบุว่า ไม่มีผล และร้อยละ 2.56 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อกำหนดที่ว่า ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป พรรคการเมืองต้องประกาศรายชื่อผู้ที่พรรคจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.61 ระบุว่า เห็นด้วย ขณะที่ ร้อยละ 9.99 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 2.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อจำนวนรายชื่อบุคคลที่เหมาะสม ที่พรรคการเมืองจะประกาศเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.45 ระบุว่า ควรเสนอรายชื่อได้ไม่เกิน 1 คน รองลงมา ร้อยละ 37.09 ระบุว่า ควรเสนอรายชื่อได้ไม่เกิน 3 คน ร้อยละ 10.47 ระบุว่า ควรเสนอรายชื่อได้ไม่เกิน 5 คน ร้อยละ 6.40 ระบุว่า ควรเสนอรายชื่อไม่เกิน 2 คน 4 คน และ 10 คน ตามลำดับ และบางส่วนเห็นว่าไม่ควรจำกัดจำนวน และร้อยละ 7.59 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะประกาศเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.43 ระบุว่า เป็นผู้สมัคร ส.ส. หรือไม่ก็ได้ รองลงมา ร้อยละ 41.01 ระบุว่า ต้องเป็นผู้สมัคร ส.ส. เขต หรือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เท่านั้น ร้อยละ 0.56 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ จะเป็นใครก็ได้ ขอให้เป็นคนดีมีความสามารถในการบริหารบ้านเมือง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น และร้อยละ 6.00 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีที่พรรคการเมืองต่างพรรคกัน อาจเสนอรายชื่อผู้ที่พรรคจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.24 ระบุว่า ควรอนุญาตให้ทำได้ ขณะที่ ร้อยละ 35.81 ระบุว่า ไม่ควรอนุญาตให้ทำได้ และร้อยละ 8.95 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ