ก.แรงงาน แจงคืบหน้าแก้ปัญหาค้ามนุษย์ยันแรงงานต่างด้าวเข้าระบบมากขึ้น-เร่งออกกม.คุม

ข่าวการเมือง Wednesday February 3, 2016 13:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า การนำแรงงานต่างด้าวจดทะเบียนเข้าสู่ระบบมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งหากพิจารณาจากการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเลตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.58-30 ม.ค.59 มีจำนวนกว่า 1.9 หมื่นคน และกิจกรรมแปรรูปสัตว์น้ำตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.58-22 ก.พ.59 มีจำนวนกว่า 3.9 หมื่นคน แสดงว่าขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวที่อยู่นอกระบบลดลง และมีแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเลและกิจการแปรรูปสัตว์น้ำก็ลดลงด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเลตั้งแต่วานนี้(2 ก.พ.) จนถึงวันที่ 31 ก.ค.59 และกิจการแปรรูปอาหารทะเลตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ.59-22 ส.ค.59 ซึ่งกรมฯ จะมีการปรับลดศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ในพื้นที่กรุงเทพฯ เหลือเพียงแห่งเดียว เพราะมีแนวโน้มการจดทะเบียนลดลง ส่วนศูนย์บริการฯ อีก 22 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเลยังคงเปิดบริการเช่นเดิม

นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดโครงการ " เขตปลอดการจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย" เพื่อตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวและนายจ้างที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย โดยมีพื้นที่เป้าหมาย อาทิ พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและตลาดนัด เป็นต้น

"โครงการเขตปลอดแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายขึ้นมา โดยจะดำเนินการทั่วประเทศให้แต่ละจังหวัดกำหนดพื้นที่ขึ้นมา และวางมาตรฐานเป็นสี่ระดับในการพัฒนาตามโครงการแล้วให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำความเข้าใจกับนายจ้างในการจดทะเบียนแรงงานให้ถูกต้องและขยายไปยังพื้นที่ใกล้เคียงเป็นในลักษณะป่าล้อมเมืองในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งพื้นที่ที่เป็นห่วงที่สุดคือพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งทำงานได้ยาก แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่จะกระจายไปเป็นคนงานในบ้านพักต่างๆ จากพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีการรวมตัวทำงานที่โรงงาน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเสนอเข้าไปในรายงานทริปรีพอร์ตที่จะเสนอไปยังสหรัฐอเมริกาด้วย" นายอารักษ์ กล่าว

ขณะที่ น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า กรมฯ กำลังเร่งออกกฎกระทรวงและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาแรงงานประมงทะเลผิดกฎหมาย อาทิ การกำหนดอัตราค่าปรับสูงสุดในการดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กรณีจ้างเด็กต่ำกว่า 15 ปี, ไม่จ่ายค่าจ้างตามกำหนดเวลา, การหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานวันหยุด อันเป็นการหักเพื่อชำระหนี้ และการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่จ่ายค่าจ้างและค่าล่วงเวลาไม่ถูกต้อง ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีการออกกฎกระทรวงกำหนดสถานที่ที่ห้ามนายจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงาน พ.ศ.2559 เพื่อป้องกันเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในกิจการเกี่ยวกับการแปรรูปสัตว์น้ำที่มีความเสี่ยงอีกด้วย โดยมาตรการเหล่านี้ถูกผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ