กอ.รมน. เผยเหตุป่วนใต้ช่วง ต.ค.-ธ.ค.58 ลดลงจากผลการขับเคลื่อนนโยบายรัฐ

ข่าวการเมือง Friday February 12, 2016 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.ยุทธนาม เพชรม่วง รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์ในห้วงเวลา 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 59 (เดือน ต.ค.-ธ.ค.58) เกิดเหตุการณ์รวม 75 เหตุ ลดลงจากห้วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 38 เหตุ (เดือน ต.ค.-ธ.ค.57 เกิดเหตุจำนวน 113 เหตุ) คิดเป็น 38% ขณะที่การสูญเสียมีจำนวน 77 ราย (เสียชีวิต 16 บาดเจ็บ 61) ลดลงจากห้วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 113 ราย (ปี 57 จำนวน 1,288 ราย) คิดเป็น 68%

รองโฆษกฯ กล่าวว่า ในห้วงเวลาดังกล่าวได้บังคับใช้กฎหมายด้วยการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดและได้ปะทะกับผู้ก่อเหตุรุนแรง 1 ครั้ง ควบคุมตัวผู้ต้องหา 40 ราย (มีหมาย ป.วิ ฯ อาญา 14 ราย) ตรวจยึดอาวุธปืนของทางราชการที่ ถูกปล้นคืนกลับมา 10 กระบอก (ปลย.เอ็ม 16 จำนวน 6 กระบอก ปลย.เอเค 47 จำนวน 3 กระบอก และ ปลย.เอเค 102 จำนวน 1 กระบอก) รวมทั้งเครื่องกระสุนและยุทโธปกรณ์อื่นๆ อีกหลายรายการ นอกจากนี้ยังได้ทำลายความพยายามในการลอบวางระเบิดแสวงเครื่องตามพื้นที่ เส้นทางต่างๆ รวม 24 ครั้ง โดยแยกเป็นการตรวจพบ และกลบหลุมระเบิด 3 ครั้ง และการทำลายวัตถุระเบิด 9 ครั้ง

สำหรับการขับเคลื่อนโครงการพาคนกลับบ้านเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีหมาย พ.ร.ก.ฯ ป.วิ ฯ อาญา และบุคคลต้องสงสัย ได้ออกมารายงานตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผลการปฏิบัติในรอบ 3 เดือนดังกล่าวมีผู้ออกมารายงานตัวแสดงตนแล้ว จำนวน 1,139 คน โดยแบ่งออกเป็นผู้ที่มีหมาย พ.ร.ก.ฯ จำนวน 439 คน ผู้ที่มีหมาย ป.วิ ฯ อาญา จำนวน 688 คน และผู้ที่ไม่มีหมายหรือหวาดระแวง จำนวน 12 คน

พ.อ.ยุทธนาม กล่าวว่า การพูดคุยสันติสุขในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติวิธี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาตามแนวทางในระบอบประชาธิปไตย ภายใต้กฎหมายของประเทศ ได้ทำการขับเคลื่อนทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติในพื้นที่ ด้วยการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่างจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชน

นอกจากนี้ยังได้พบปะพูดคุยกับกลุ่มผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐ เพื่อสร้างความไว้วางใจในการร่วมกันแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง และอำนวยความสะดวกในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตามโครงการพาคนกลับบ้าน ทำให้สามารถสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นมากขึ้น ส่งผลให้กลุ่มผู้ที่มีความเห็นต่าง ได้เข้ารายงานตัวแสดงตนเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายแล้วมีจำนวน 3,135 คน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ