สปท.หนุนข้อเสนอ คสช. ชี้มีน้ำหนัก-ความจำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่าน เชื่อกรธ.เห็นด้วย

ข่าวการเมือง Wednesday March 16, 2016 17:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยว่า ข้อเสนอการแก้รัฐธรรมนูญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยื่นต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต้องใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพียงแต่ต้องอธิบายทำความเข้าใจให้มากขึ้น โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองที่คงต่อต้านกันอย่างหนัก

ในส่วนอำนาจของวุฒิสมาชิก (ส.ว.) สรรหาที่เสนอให้มีจำนวน 250 คน และสามารถลงมติอภิปรายไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้นั้น ไม่ถือว่าให้อำนาจ ส.ว.มากเกินไป แต่เป็นการสร้างกลไกตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลให้มีความเข้มข้นและได้รับความไว้วางใจมากขึ้น ขณะที่การให้มีผู้นำกองทัพเข้ามาเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 ที่นั่งนั้นก็ถือว่ามีความจำเป็น เพราะขณะนี้ประเทศยังมีปัญหาเรื่องความมั่นคง ความแตกแยกอยู่ จึงต้องนำผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงเข้ามาดูแลส่วนหนึ่ง เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย คงไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ

ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปท. กล่าวว่า ข้อเสนอของ คสช.ทั้ง 3 ข้อเป็นไปตามโจทย์ที่นายกรัฐมนตรีตั้งไว้ 2 ข้อ คือ ต้องมีหลักประกันว่าการปฏิรูปจะเดินหน้าต่อได้ และถ้ามีเหตุวิกฤตเกิดขึ้นต้องมีกลไกเข้ามาดำเนินการ ซึ่งข้อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ทั้ง 16 ข้อ และข้อเสนอ คสช. 3 ข้อ เข้ามารองรับในสิ่งที่นายกฯ ได้พูดไว้

โดยข้อเสนอของ คสช.ถือว่ามีน้ำหนักมากที่ กรธ.ต้องนำไปประยุกต์ใช้ แม้จะไม่ไปปรับแก้ที่ตัวเนื้อหา แต่อาจต้องไปเพิ่มเติมในบทเฉพาะกาลเพื่อให้สอดรับกับข้อเสนอ คสช. ทั้งเรื่องที่มา ส.ว., บัตรเลือกตั้งใบเดียว และการให้พรรคการเมืองไม่ต้องเสนอรายชื่อผู้มาเป็นนายกฯ ล่วงหน้า 3 คน ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ที่ผ่านมาถูกต่อต้านโดยตลอดจากทุกฝ่าย ดังนั้นเมื่อ คสช.เสนอให้ปรับปรุง กรธ.คงต้องให้ความสำคัญมาก จะต้องใคร่ครวญทบทวน ปรับแก้พอสมควร เพราะเป็นข้อเสนอของรัฏฐาธิปัตย์ที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงประเทศ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 และต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ทั้งหมด

ด้านนายสมพงษ์ สระกวี สมาชิก สปท. กล่าวว่า แม้คสช.จะมีเจตนาดีเพื่อควบคุมประเทศช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย ยังมีทัศนคติไม่ไว้วางใจประชาชนและพรรคการเมือง ซึ่งเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว กรธ.จะยอมปรับแก้ไขเนื้อหาตามที่ คสช.เสนอมาถึง 80% เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าวเป็นการสร้างความอุ่นใจอยู่ยาวของ คสช. แม้จะไม่อยู่ยาวโดยตำแหน่ง แต่จะอยู่ยาวในอำนาจ โดยนำอำนาจไปฝากไว้กับเครือข่าย คสช. และผู้นำเหล่าทัพที่จะเข้ามาเป็น ส.ว.ทั้ง 250 คน ที่ให้อำนาจ ส.ว.เพิ่มขึ้น สามารถควบคุมรัฐบาลได้จากการลงมติไว้หรือไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งต้องจับตาดูต่อไปว่า จะมีการเพิ่มอำนาจอะไรให้ ส.ว.อีกหรือไม่

"ท่าทีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ที่แสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยคงเป็นแค่ลูกเล่น แต่สุดท้ายก็คงยอมตามที่ คสช.เสนอมา เพราะนายมีชัยเป็นสมาชิก คสช.อยู่ ต้องทำตาม คสช.อยู่แล้ว การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถือเป็นเดิมพันวัดใจ คสช.กับพรรคการเมือง โดย คสช.มั่นใจว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติแน่นอน จึงร่างรัฐธรรมนูญออกมาสุดโต่ง จะยิ่งเพิ่มดีกรีให้พรรคการเมืองต่อต้านมากขึ้น" นายสมพงษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ