"อภิสิทธิ์"ค้านข้อเสนอคสช.เหตุขัดหลักปชต.-อำนาจซ้ำซ้อน สร้างความขัดแย้งเพิ่ม

ข่าวการเมือง Thursday March 17, 2016 13:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้ปรับเพิ่มจำนวน ส.ว. และให้อำนาจในการลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐบาล และปรับเรื่องการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีหรือปรับระบบเลือกตั้งนั้น ขัดกับระบบหลักการที่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) วางไว้ และจะไม่เป็นผลดี ทำให้เกิดความขัดแย้ง เป็นสภาพการเมืองที่เป็นการต่อรองกันระหว่างนักการเมืองกับกลุ่มผู้มีอำนาจ มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดสภาพที่เรียกว่าเบี้ยหัวแตก ซึ่งขัดกับการเดินหน้าของประเทศ

นอกจากนี้ โครงสร้าง ส.ว.สรรหาที่ให้ฝ่ายความมั่นคงซึ่งเป็นข้าราชการประจำเข้ามาอยู่ด้วย 6 คนถือว่าขัดหลักประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและทำให้เกิดความสับสน

"ซึ่งหลังจากการเลือกตั้งก็ยังไม่เข้าใจว่า ให้บุคคล 6 คนเข้ามาอยู่ในสภาฯ ซึ่งมีจำนวน 250 คน จะทำให้เกิดความแตกต่างอะไร นอกเสียจากกลายเป็นว่า 6 คนนี้จะสามารถมาคุมเสียงอีก 200 กว่าเสียงได้ ก็ยิ่งทำให้เกิดความสับสนว่าระบบนี้เป็นอย่างไรกันแน่"

หัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่านายกฯ ไม่ได้อยากจะยื้ออำนาจ แต่คงกังวลว่าเมื่อไม่อยู่แล้วสภาพปัญหาจะกลับไปเหมือนเดิมหรือไม่ ซึ่งไม่มีใครอยากให้กลับไปเหมือนเดิม แต่นายกฯ ต้องวินิจฉัยปัญหาให้ถูก และแก้ปัญหาให้ตรงไปตรงมา แล้วต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดข้อหวาดระแวงว่านายกฯ หรือคณะในขณะนี้จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งด้วยการสืบทอดอำนาจเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม กรธ.ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบกับข้อเสนอของ คสช. ซึ่งตนเองขอเป็นกำลังใจให้ และอยากย้ำว่า ถ้า กรธ.ยืนยันในสิ่งที่เห็นว่าเป็นหลักการที่ดี สามารถทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ ประชาชนลงประชามติรับรองบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญก็จะเป็นไปตามนั้น เพราฉะนั้นสิ่งที่ กรธ.ต้องคิดให้มากคือการยอมรับจากประชาชนมากกกว่าที่จะต้องไปเกรงใจใคร

"ผมมองว่าถ้าเราทำระบบให้เกิดความสับสน ไม่สามารถสลัดข้อหาการสืบทอดอำนาจและความหวาดระแวงได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือความขัดแย้ง ในที่สุดตรงนี้จะเป็นตัวที่ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งสิ่งต่างๆ ที่ คสช.พยายามทำมาด้วย และถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็เป็นหน้าที่ของ คสช.ที่จะต้องจัดให้มีรัฐธรรมนูญ แต่ความกังวลของผมคือ ถ้าเราได้รัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านประชามติ จะมีคนที่ไม่พอใจรัฐธรรมนูญ ออกมาโต้แย้ง สุดท้ายก็จะนำมาสู่การขอแก้ไขการขอรื้อ แต่ถ้าทำให้แก้ไขยาก ก็จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งบานปลายออกไปสู่กระบวนการอื่น สุดท้ายรัฐธรรมนูญจะเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งในอนาคต ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับใครเลย" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

หัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่จะออกมามีการห้ามรณรงค์ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงนั้นตามหลักการไม่มีปัญหา แต่ต้องดูให้ดีว่าการวินิจฉัยตรงนี้เที่ยงธรรมหรือไม่ อย่าไปคิดว่าคนที่พูดจาไม่ตรงกับข้อเท็จจริงจะเป็นฝ่ายที่ไม่สนับสนุน เพราะฝ่ายที่สนับสนุน หลายท่านที่ชี้แจงมาตอนนี้ก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะก็คล้ายกับการเลือกตั้ง ใครไปรณรงค์อะไรก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง แต่อยากจะย้ำว่าเราต้องการให้กระบวนการประชามติ สร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐธรรมนูญ ดังนั้นกระบวนการนี้ต้องเปิดกว้าง การรณรงค์วิพากษ์วิจารณ์อาจทำได้ แต่อะไรที่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง ก็ต้องเป็นความผิดเหมือนกัน

"“ต้องดูให้ชัดว่าการรณรงค์ถ้าไปจำกัดกรอบเกินไปก็ทำให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ถูกจำกัด อาจถูกหยิบยกมาเป็นปัญหา หรือเงื่อนไขอีกว่า กระบวนการประชามติได้ให้สิ่งที่เราต้องการหรือไม่ คือความชอบธรรม และภูมิคุ้มกันให้รัฐธรรมนูญ ตนจึงอยากให้ปลดล๊อคตรงนี้ เพราะเห็นนายกฯบอกว่าไม่ได้เดือดร้อนไม่ผ่านก็ร่างเอง เพราะฉะนั้นก็ควรเปิดให้มีการพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นของทุกคน ใช้บังคับกับทุกคน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ