"เรืองไกร"ยื่นผู้ตรวจการฯ กรณีครม.เสนอร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ส่อมิชอบ

ข่าวการเมือง Monday April 4, 2016 13:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้มีการตรวจสอบคณะรัฐมนตรี ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 15 มี.ค.59 เสนอร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างธรรมนูญ พ.ศ. ... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นเรื่องด่วน ซึ่งต้องการให้ตรวจสอบว่าการกระทำของคณะรัฐมนตรีไม่ปฏิบัติตามกฏหมายหรือไม่ หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฏหมาย และมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 หรือไม่

ทั้งนี้ นายเรืองไกร ได้ให้เหตุผลว่า เมื่อพิจารณาตามช่วงเวลาจะเห็นว่าการร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ... ตั้งแต่ขั้นตอนการยกร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), การลงมติของครม.เมื่อวันที่ 15 มี.ค.59 และการลงมติรับหลักการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 19/2559 วันที่ 18 มี.ค.59 น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 มาตรา 39/1 วรรค 5 จะมีผลบังคับใช้

สื่บเนื่องจากรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 ตราขึ้นเมื่อวันที่ 21 มี.ค.59 โดยมีมาตรา 2 บัญญัติ ว่า "รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป" และต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญได้ประกาศลงในกิจจานุเบกษา หน้า 1 เล่ม 133 ตอนที่ 25 ก เมื่อวันที่ 22 มี.ค.59 ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.59 เป็นต้นไป โดยนายเรืองไกร มองว่า ขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยงข้องกับการร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ เป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ที่กระทำที่เกี่ยวข้องมีหลายกลุ่ม ตั้งแต่ กกต., ครม., สนช. ที่อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายหลายฉบับ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามทุจริต พ.ศ.2542 เป็นต้น และหากปล่อยไปจะเกิดความเสียหาย และต้องการให้กระบวนการตรากฏหมายสำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีความถูกต้องทุกขั้นตอน

นายเรืองไกร ยังรู้สึกแปลกใจที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่มีการทักท้วงในเรื่องนี้ ทั้งที่มีความรู้ความสามารถด้านกฎหมาย และปล่อยปละละเลยจนมีการออกหนังสือเชิญประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระการประชุมวันที่ 7 เม.ย.นี้ด้วย จึงอยากให้มีการพิจารณาทบทวนให้เกิดความรอบคอบ

ด้านนายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้รับหนังสือร้องเรียนด้วยตัวเอง และยืนยันว่าจะมีการเรียกประชุมด่วนเพื่อพิจารณาในประเด็นนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ