กรธ.หารือแนวทางปชส.ร่างรธน. อาจเปิดทางให้สนช.ร่วมแจงคำถามพ่วง หวั่นพูดหลายรอบเสียเวลา-สร้างความสับสน

ข่าวการเมือง Monday April 25, 2016 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า วันนี้ กรธ.จะหารือเรื่องแนวทางการประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ โดยเบื้องต้นจะให้แม่ข่ายอาสาสมัครจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขมาร่วมดำเนินการ

นอกจากนี้ที่ประชุมฯ อาจมีการหารือว่าจะให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมชี้แจงในส่วนของคำถามพ่วงประชามติในเวทีเดียวกันหรือไม่ เพราะมีความกังวลว่าถ้า กรธ.และ สนช.ไปชี้แจงคนละครั้งอาจจะยิ่งทำให้ประชาชนมีความสับสน โดย กรธ.จะอธิบายในส่วนของรายละเอียดร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ สนช.จะได้อธิบายในเรื่องของคำถามพ่วง ซึ่งจะได้ช่วยกันชี้แจง

"ถ้าเราต่างคนต่างไป จะเสียเวลาของชาวบ้านที่ต้องมาฟัง และคนที่ไปพูด เมื่อพูดคนละทีสองที จะกลายเป็นพูดไม่ตรงกัน หรือพูดขัดกัน อาจทำให้ชาวบ้านสับสน" นายมีชัย กล่าว

สำหรับการลงพื้นที่ของ กรธ.นั้น ตนเองอาจจะเดินทางไปด้วยตนเองในบางจุด ซึ่งจะดูเป็นวาระ เช่น การลงพื้นที่ร่วมกับแม่ข่ายอาสาสมัคร ตนเองอาจจะต้องไปทำความเข้าใจด้วยตัวเอง

ขณะที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ก็มีผลบังคับใช้แล้ว ถ้ามีการขัดขวางการทำงานของ กรธ.ก็ต้องว่ากันตามกฎหมาย ส่วนที่มีกลุ่มออกมาแสดงความเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้นั้น ตนเองไม่มีความเห็น เพราะเป็นเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะพิจารณา ไม่ใช่เรื่องของ กรธ. ซึ่งหากมองในแง่ของบางพรรคหรือบางคนที่คุ้นเคยกับการใช้อำนาจตามอำเภอใจ รักษาผลประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง รัฐธรรมนูญนี้ก็คงยากที่เขาจะยอมรับได้ แต่หากมองในแง่ที่ว่า ประชาชนได้อะไรจากรัฐธรรมนูญนี้ คือ มีกฎกติกาที่ถาวร การศึกษาที่ได้รับการพัฒนาให้ทัดเทียมกัน มีการใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

"การปฏิรูปจะเดินหน้าสู่จุดหมายที่ดีขึ้นได้ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องพิจารณาว่า จะเห็นแก่พรรคการเมือง หรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนที่จะได้มีความทัดเทียมกัน"

สำหรับนักวิชาการที่ติติงร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัย กล่าวว่า ถ้าอ่านดีๆ จะพบว่า ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่า เพราะรัฐธรรมนูญเขียนสำหรับคนทั้งประเทศ ถ้าทำใจกว้างๆ และเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ก็คงจะไปกันได้ ทั้งนี้มั่นใจว่า กรธ.จะสามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ แต่อาจมีข้อเสียเปรียบเมื่อเทียบกับเครือข่ายของพรรคการเมือง

สำหรับกรณีที่มีหลายฝ่ายเสนอว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ให้นำรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมาใช้นั้น อาจเป็นเพราะไปคาดคั้นถามมาก ๆ เขาก็เลยตอบ ทั้งที่จริงๆ แล้วผลจะเป็นอย่างไร ยังไม่ใครรู้เลย ขณะนี้เราคิดเพียงว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ปัญหาที่เรากำลังแก้ เป็นปัญหาที่มีมาจริงเราเลยต้องแก้ไข ส่วนจะเหมือนหรือไม่เหมือนกับบางประเทศนั้น เราคงจะไปลอกเขามาหมดไม่ได้ เพราะปัญหาแต่ละประเทศมีไม่เหมือนกัน เราดูปัญหาจากในอดีต แล้วเขียนกลไกไว้ เพื่อแก้ปัญหา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ