"สมชัย" หวังการเปิดเวทีแจงร่างรธน.-ประชามติสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน/"วิษณุ"ยันเดินหน้าสู่ ปชต.วิถีไทย

ข่าวการเมือง Thursday May 19, 2016 14:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวก่อนการประชุมชี้แจงพรรคการเมืองเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ และพรรคการเมืองในวันนี้ว่า จะให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำประชามติจาก 5 ฝ่าย คือ กกต. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) และคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐบาล ชี้แจงบทบาทของตนเอง กลุ่มละ 5-8 นาที โดยในช่วงแรกจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชม. จากนั้นจะเป็นการตอบคำถามพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆที่มีข้อสงสัยหรือมีปัญหา โดยให้ผู้รับผิดชอบแต่ละงานชี้แจงทั้งนี้ไม่ได้กำหนดเวลาว่าการประชุมฯจะต้องเสร็จกี่โมงแต่ขอให้เป็นเวทีที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ทำความเข้าใจให้ตรงกัน

นายสมชัย กล่าวต่อว่า สิ่งที่คาดหวังในวันนี้ อย่างน้อยที่สุดคือจะเกิดความเข้าใจในกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองในเรื่องการออกเสียงประชามติและน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะไปทำความเข้าใจกับสมาชิกในองค์กรและกลุ่มต่างๆต่อไป

ส่วนกลุ่มการเมืองที่เข้าร่วมในวันนี้ จะทำผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติไม่ได้อีกใช่หรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า ไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น แต่เชื่อว่าไม่มีใครอยากทำผิดกฎหมาย ส่วนการนำเสนอข่าวของสื่อเสนอได้ทุกเรื่อง แต่อยากให้กลั่นกรองข้อเท็จจริงไม่ปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวาย ส่วนการรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆยังสามารถทำได้

สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาบัตรดีบัตรเสีย จะใช้เกณฑ์เหมือนการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านแบ่งเป็นรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และ คำถามพ่วงประชามติ หาก กากบาท เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง จะไม่ถือว่าเป็นบัตรเสีย เว้นแต่เขียนข้อความลงไป

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่กกต. เปิดเวทีชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติให้กับพรรคการเมืองต่างๆ นั้นเชื่อว่าจะช่วยให้อะไรดีขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ได้หวังผลดีเลิศมาก แต่อย่างน้อยเป็นการพบปะกัน หากได้ผลดีก็จะมีการจัดเวทีในครั้งต่อไป เพราะ กกต.มีแผนจัดเวทีชี้แจงอีก 10 เวที แต่หากครั้งนี้เกิดความล้มเหลวไม่สร้างสรรค์นำมาสู่ความแตกแยกร้าวฉานก็ต้องคิดทบทวนใหม่

ส่วนกรณีที่นายเวอร์เนอร์ แลงเกน สมาชิกรัฐสภายุโรปจากประเทศเยอรมนี ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านความสัมพันธ์กับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน พร้อมคณะผู้แทนสมาชิกรัฐสภายุโรปรวม 8 คน เรียกร้องให้ประเทศไทยเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวจากหนังสือพิมพ์ และคิดว่าข้อเสนอแนะขององค์กรระหว่างประเทศดังกล่าวไม่ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศ เพราะเป็นการดำเนินการอย่างเปิดเผย โปร่งใส ซึ่งอยู่บนพื้นฐานที่อารยะประเทศทำกัน และไม่ได้เป็นการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองที่เป็นการใช้อารมณ์

"รัฐบาลไม่ได้ว่าอะไร ขณะนี้อาจจะยังไม่เป็นประชาธิปไตยก็ต้องยอมรับ แต่เราก็ตั้งเป้าหมายว่าเราจะต้องไปสู่ประชาธิปไตย ไม่เหมือนบางประเทศที่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายจะไปสู่ประชาธิปไตยก็ยากหน่อย ก็ต้องค่อยๆเดินไป แต่จะมาบอกว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วทำไมเป็นแบบนี้ก็พูดไม่ได้ เพราะเราไม่ได้บอกว่าเราเป็น อย่างที่ใครๆตั้งเป้าหมาย เช่นนั้นจะใช้ตาชั่งเดียวกันมาวัดคงยาก แต่ก็ตั้งใจวันหนึ่งเราจะรื้อตาชั่งนี้ทิ้ง และใช้ตาชั่งแบบเขา แต่ขณะนี้ใช้ตาชั่งแบบเขาไม่ได้ เพราะเรายังจัดระเบียบไม่ได้" นายวิษณุ กล่าว

ส่วนที่ต่างชาติอยากให้ไทยปกครองแบบประชาธิปไตยด้วยการเดินตามแนวทางเดิมนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เป็นไร ถือเป็นความปรารถนาดี ตนเองไปเที่ยวมาหลายประเทศ ซึ่งต้องมองถึงบริบทวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ความจำเป็นของแต่ละประเทศ ซึ่งจะใช้มาตรฐานเดียวกันไม่ได้

“ผมไปโครเอเชียใหม่ๆ กินข้าว ผ้าปูโต๊ะในร้านอาหารทุกร้านยกขึ้นมายังมีรูกระสุนอยู่บนโต๊ะทั้งนั้น เขาอุตส่าห์เอาผ้าปิดเอาไว้ แล้วเราจะมาคาดหมายให้เขาต้องเป็นอย่างเราคงยาก เพราะเราไม่ได้มีสถานะลูกกระสุนเจาะโต๊ะอย่างนั้น" นายวิษณุ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ