ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติส่งพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 ให้ศาลรธน.วินิจฉัยภายในสัปดาห์นี้

ข่าวการเมือง Wednesday June 1, 2016 14:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ในฐานะโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีนายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธาน มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามที่นายจอน อึ้งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ยื่นเรื่องขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องดังกล่าว พร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยภายในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นว่า การที่มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็คทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้น แม้พจนานุกรมจะระบุความหมายของคำว่า ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย แต่ในทางปฏิบัติก็จะมีความไม่ชัดเจน คลุมเครือ อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของการออกเสียงประชามติ และอาจมีการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตีความหมายของถ้อยคำดังกล่าวจนนำไปสู่การดำเนินการกับประชาชน

โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการฯ กล่าวว่า แม้สุดท้ายแล้วศาลจะเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย แต่ระหว่างที่ถูกดำเนินการก็ต้องถือว่าประชาชนได้รับผลกระทบไปแล้ว ซึ่งโทษตามกฎหมายดังกล่าวเป็นโทษทางอาญา การดำเนินการทางคดีอาญา ผู้ตรวจการฯ จึงเห็นว่าจะต้องมีความชัดเจน หากไม่ชัดเจนก็จะขัดต่อหลักการพิจารณาคดีทางอาญา และที่สุดการออกเสียงประชามติครั้งนี้อาจจะเกิดความวุ่นวายมากกว่าความสงบเรียบร้อย

ส่วนวรรคสามและวรรคสี่ของ พ.ร.บ.การทำประชามติฯ ที่ไอลอว์เสนอให้วินิจฉัยด้วยนั้น ผู้ตรวจการฯ เห็นว่า เป็นดุลยพินิจของผู้ออกกฎหมาย และเป็นบทลงโทษที่อยู่ในดุลยพินิจของศาลยุติธรรม ผู้ตรวจการฯ จึงไม่อาจก้าวล่วง และการวินิจฉัยครั้งนี้ได้มีการรวบรวมข้อมูล ข้อกฎหมายต่างๆ รวมถึงขั้นตอนการพิจารณาออกกฎหมายอย่างครบถ้วนแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ