ครม.ไฟเขียวออกกฎหมายเรียกคืนที่ดิน ส.ป.ก. แทนใช้ม.44 เพื่อกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนรัดกุม

ข่าวการเมือง Tuesday June 21, 2016 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อเสนอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

"กฎหมายปฏิรูปที่ดินมีใช้ตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งกำลังมีการแก้ไขกันอยู่ 13 ประเด็น แต่ไม่ประเด็นใดเลยที่เป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.โดยผิดกฎหมาย ถ้าจะหยิบประเด็นนี้เข้าไปเพิ่มเติมก็จะทำให้เกิดความล่าช้า เพราะการแก้ไขทั้ง 13 ประเด็นใกล้สะเด็ดน้ำแล้ว จึงเห็นควรทำกฎหมายใหม่ออกมาอีกฉบับจะสะดวกกว่า ไม่ซ้ำซ้อน จึงเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา ถือเป็นกฎหมายฝาแฝดคู่กันกับกฎหมายปฏิรูปที่ดินปี 2518 ที่กำลังแก้ไขอยู่" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2536 ที่ ครม.มีมติให้กรมป่าไม้ส่งมอบป่าไม้ที่เสื่อมโทรมเพื่อเอามาปฏิรูปจัดสรรให้เกษตรกรที่ยากจน ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินไม่เพียงพอ มาจนถึงวันนี้การแก้ปัญหายังไม่จบสิ้น เพราะไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบการครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.ได้

เนื่องจากที่ดินดังกล่าวอยู่ในการครอบครองของบุคคล 5 กลุ่ม คือ 1.ผู้ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.โดยไม่ยอมแจ้งทางการ ไม่ให้ทางการเข้าไปตรวจสอบ 2.ผู้ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.ถูกกฎหมาย แต่มีจำนวนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ 3.ผู้ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.ที่เป็นนายทุนกว้านซื้อที่ดินเก็บไว้ซึ่งไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปที่ดิน 4.ผู้ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.ที่มีการเปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ และ 5.ผู้ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.ซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่าครอบครองโดยผิดกฎหมาย แต่ไม่ยอมออกนอกพื้นที่

"การดำเนินการตามกฎหมาย ส.ป.ก.ปี 2518 ต้องไปฟ้องศาล ซึ่งกว่าจะจบต้องใช้เวลา 10-20 ปี แต่รัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ ถ้ารอการฟ้องศาลคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงมีการเสนอกฎหมายฉบับนี้" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

สำหรับการดำเนินการตรวจสอบนั้น สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะกำหนดรายละเอียดส่งให้ ส.ป.ก.ประกาศให้ผู้ครอบครองมาแจ้งภายใน 30 วัน หากไม่มีใครมาอุทธรณ์ก็จะนำที่ดินมาจัดสรรต่อไป แต่หากมีการอุทธรณ์ก็ต้องรับฟังว่ารับฟังขึ้นหรือไม่ ถ้าฟังขึ้นก็มอบที่ดินให้ ถ้าฟังไม่ขึ้นก็จะยึดพื้นที่คืนเสมือนผู้บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากจะใช้มาตรา 44 จะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นที่ไม่มีความยั่งยืน วันข้างหน้าก็ต้องออกกฎหมายอีก อีกทั้งประกาศ คสช.จะมีเนื้อหาสั้นๆ ไม่เหมาะกับเรื่องนี้ที่ต้องกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนรัดกุม เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มากที่อาจจะมีการฟ้องร้องเป็นคดีความตามมาในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ