สนช.ผ่านร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ วาระ 1 แล้ว,รอตั้งกมธ.พิจารณาต่อไป

ข่าวการเมือง Friday June 24, 2016 14:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน แถลงภายหลังการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า วันนี้สนช. ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปด้านพลังงานในการสร้างเสถียรภาพและมั่นคงทางด้านพลังงาน

โดยร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฉบับนี้ได้เพิ่มทางเลือกให้รัฐสามารถพิจารณานำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือระบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม นอกเหนือจากระบบสัมปทานปิโตรเลียมภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบัน รวมทั้งแก้ไขบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับประโยชน์หรือสิทธิของผู้รับสัมปทานและบทบัญญัติเกี่ยวกับค่าภาคหลวงให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

สำหรับร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดอัตราและหลักเกณฑ์ในการคำนวณภาษีเงินได้ปิโตรเลียมให้สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินการของระบบสัญญาแบ่งปันผลิต

ทั้งนี้ ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติรับหลักการสำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับในวาระที่ 1 แล้วในวันนี้ ก็จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากฝ่ายคณะรัฐมนตรี และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

กระทรวงพลังงานขอยืนยันว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมครั้งนี้ ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากสภาปฏิรูปแห่งชาติและเวทีเสวนาสาธารณะหลายครั้ง ซึ่งได้นำข้อคิดเห็น ที่สามารถดำเนินการได้จริงมาปรับใช้ในการแก้ไข โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุน สร้างความต่อเนื่องในการสำรวจปิโตรเลียม เพี่อเพิ่มโอกาสในการพบปิโตรเลียม ซึ่งคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ

ขณะที่ในที่บริเวณหน้ารัฐสภาในเช้าวันนี้ กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันเพื่อติดตามการประชุมของสนช.เกี่ยวกับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้งสองฉบับ โดยเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวยังขาดความชอบธรรมและเอื้อประโยชน์เอกชน พร้อมกับเตรียมทำร่างพ.ร.บ.ประกอบกิจการปิโตรเลียม ภาคประชาชน และอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อให้เสนอให้สนช.พิจารณาเห็นชอบต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ