นายกฯ ลงนาม MoU ด้านแรงงาน 3 ฉบับกับ"อองซาน" เล็งฟื้นการประชุมระดับรัฐบาลโครงการทวาย

ข่าวการเมือง Friday June 24, 2016 19:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงร่วมกับนางอองซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และ รมว.ต่างประเทศเมียนมา ภายหลังลงนามความตกลง 3 ฉบับ ประกอบด้วย บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน ซึ่งมีสาระสำคัญเรื่องการยอมรับในหลักการของความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน ให้มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลเพื่อป้องกันการจ้างงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์เพื่อการจ้างงาน และร่วมมือกันเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และการคุ้มครองแรงงาน, บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการจ้างแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างไทยเมียนมา

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่ามีความยินดีที่ได้ต้อนรับการเดินทางมาเยือนไทยของนางอองซาน ซู จี ซึ่งไทยและเมียนมา มีความสัมพันธ์ทางการทูตมายาวนานกว่า 68 ปี เปรียบเสมือนเพื่อนสนิทที่คบหามาอย่างยาวนาน และที่ปรึกษาแห่งรัฐได้เดินทางเยือนประเทศไทยเป็นประเทศแรกในฐานะหัวหน้าคณะ หลังดำรงตำแหน่งในรัฐบาลชุดใหม่ของเมียนมา

การเยือนครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนมิติใหม่ของความสัมพันธ์ไทยและเมียนมา ซึ่งไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลชุดใหม่ของเมียนมาในทุกๆด้าน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนทั้งสองประเทศและขอให้คำมั่นว่าจะก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน ทั้งนี้ได้มีการหารือข้อราชการในหลายด้านและผลการหารือเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ทั้งเรื่องของการคุ้มครองแรงงานเมียนมาในประเทศไทยโดยทั้งสองประเทศเห็นพ้องว่าพรรคเอกชนไทยและแรงงานเมียนมาต่างพึ่งพากัน และที่ผ่านมารัฐบาลไทยให้การคุ้มครองและดูแลแรงงานเมียนมาเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องการรักษาพยาบาลและการศึกษา ล่าสุดรัฐบาลไทยได้ยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานเมียนมาในหลายมาตรการ อาทิ การเตรียมเปิดตัวระบบร้องทุกข์ออนไลน์ สำหรับแรงงานผ่านทางเว็บไซต์, การให้บริการระบบโทรศัพท์สายด่วนร้องทุกข์ 1694, ข้อริเริ่มจัดตั้งศูนย์แรกรับและส่งกลับ แรงงานเมียนมา ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเป็นสิ่งที่ฝ่ายไทยเน้นย้ำและให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอดทางความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาไทยเมียนมาระยะ 3 ปี ระหว่างปี 2559 ถึง 2561 ซึ่งไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือเมียนมาอย่างบูรณาการและเป็นระบบประกอบด้วยโครงการต่างๆ มูลค่ารวมประมาณ 150 ล้านบาท, การให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาตามแนวชายแดนต่างๆ อาทิ ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดความร่วมมือในการป้องกันปัญหาข้ามชาติความร่วมมือด้านสาธารณสุขและความร่วมมือด้านการพัฒนาทักษะอาชีพแรงงาน

ส่วนความร่วมมือด้านความเชื่อมโยง ทั้ง 2 ประเทศเห็นพ้องที่จะอำนวยความสะดวกการข้ามแดนระหว่าง 2 ประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดยในเบื้องต้นได้หารือความเป็นไปได้ ในการอนุญาตให้ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศสามารถขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองที่จุดผ่านแดนถาวร ซึ่งต้องมีการหารือในรายละเอียดต่อไป รวมทั้งเห็นพ้องที่จะเร่งรัดการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทยเมียนมา แห่งที่ 2

สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทั้งสองเห็นพ้องว่าเศรษฐกิจของ 2 ประเทศส่งเสริมเกื้อหนุนกันและมุ่งมั่นที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว และในส่วนของไทยยืนยันจะส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมาด้วยความโปร่งใสและเน้นความยั่งยืน

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้มีการหารือเกี่ยวกับการสนับสนุนขบวนการสันติภาพในเมียนมา รวมถึงการดูแลให้การศึกษาและการเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของแรงงานเมียนมาและผู้ลี้ภัยการสู้รบกับเมียนมา และได้แสดงความยินดีต่อกระบวนการปรองดองแห่งชาติในเมียนมาที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อสถานการณ์ในเมียนมามีความพร้อม รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันในการเตรียมการสำหรับการส่งกลับผู้ลี้ภัยการสู้รบกลับเมียนมา ซึ่งทางฝ่ายไทยขอให้เมียนมามีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาหารือกับฝ่ายไทยเพื่อเตรียมการเรื่องนี้

นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศจะมีการริเริ่มความร่วมมือไตรภาคีกับประเทศที่สาม เช่น ญี่ปุ่น ในการดำเนินโครงการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรและการพัฒนามนุษย์ รวมถึงการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับเมียนมา

สำหรับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้ง 2 ประเทศเล็งเห็นถึงความสำคัญในการผลักดันการพัฒนาโครงการดังกล่าว ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในเมียนมาและไทยและในภูมิภาคอาเซียนจึงเห็นพ้องที่จะมีการสนุนให้มีการรื้อฟื้นกลไกการประชุมหารือระดับรัฐบาลระหว่าง 2 ฝ่ายให้กลับมาดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ตนเองได้เน้นย้ำจุดยืนของรัฐบาลไทยด้วยว่าการพัฒนาโครงการดังกล่าวจะต้องทำควบคู่ไปกับการจัดหามาตรการในการป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญด้วย

ส่วนความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียนทั้งสองประเทศ เห็นตรงกันว่าจะมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคและสร้างประชาคมอาเซียนให้เป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา สำหรับความจริงใจที่มอบให้ไทยและความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมมือกันผลักดันในประเด็นสำคัญต่างๆเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันและความผาสุกของประชาชนทั้งไทยและเมียนมา ซึ่งผลการหารือทั้งสองประเทศเห็นว่ายังต้องพัฒนาและปฏิรูปเพื่อสังคมประชาธิปไตยและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้ฝากคำเชิญผ่านที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาไปยังประธานดีติน จ่อ เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดข้อความร่วมมือแห่งเอเชียที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมนี้ รวมถึงได้เชิญให้ประธานาธิบดีเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ