PNET พร้อมสังเกตการณ์ลงประชามติร่างรธน. แต่ห่วงประชาชนมีเสรีภาพทางความคิดน้อยลง

ข่าวการเมือง Friday July 22, 2016 13:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (PNET) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในหลายจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมทำการสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติ ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่เป็นกลางที่ทำการตรวจสอบและสังเกตการณ์การเลือกตั้งและการลงประชามติในประเทศไทยมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี โดยหวังว่าการสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติในครั้งนี้จะสามารถสะท้อนภาพการมาใช้สิทธิออกเสียงลงประชามติของผู้มีสิทธิว่ามีคุณภาพมากแค่ไหน พร้อมทั้งประเมินประสิทธิภาพในการจัดการการออกเสียงประชามติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นอย่างไร

โดยการสังเกตการณ์ในครั้งนี้ มูลนิธิองค์กรกลางฯ ได้พัฒนาระบบออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือมาใช้ในการสังเกตการณ์เพื่อใช้ในการรายงานผลการสังเกตการณ์แบบเรียลไทม์ในช่วงเวลาต่างๆ โดยมีประเด็นให้อาสาสมัครร่วมสังเกตการณ์รายงานข้อมูลจำนวน 66 ประเด็น โดยแบ่งเป็น 3 ห้วงเวลา คือ 2 สัปดาห์ก่อนวันออกเสียงประชามติ, วันออกเสียงประชามติ และสิ้นสุดการออกเสียง

องค์กรกลางและเครือข่ายภาคประชาชนในหลายจังหวัด ได้มีการติดตามกระบวนการออกเสียงประชามติอย่างไม่เป็นทางการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 และได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลบรรยากาศของการออกเสียงประชามติในพื้นที่ พร้อมทั้งเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ปัจจุบันองค์กรกลางมีผู้ประสานงานถาวรประจำภาคจำนวน 9 คน แบ่งเป็น 9 ภูมิภาคในการดำเนินงานร่วมกับผู้ประสานงานถาวรประจำจังหวัดอีกจังหวัดละ 1 คน พร้อมผู้ประสานถาวรระดับอำเภออีกอย่างน้อย 2 คนในการดำเนินงานในด้านการสังเกตการณ์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมือง โดยมูลนิธิองค์กรกลางฯ ได้มีการนำแผนยุทธศาสตร์ในการสร้างและพัฒนาเครือข่ายภาคประชาชนในการตรวจสอบการเลือกตั้งที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากลในการทำงาน

สำหรับบรรยากาศการออกเสียงประชามติในช่วงนี้ องค์กรกลางฯ และเครือข่ายมีข้อห่วงใยหลายประการ ที่สะท้อนจากศูนย์ติดตามการลงประชามติ ทั้งจากส่วนกลาง จากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และจากการได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานทางการทูตในหลายประเทศ มีข้อสังเกตดังนี้

ประการที่ 1 เสรีภาพในการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในภาคส่วนต่างๆ อยู่ในระดับต่ำ หากเทียบกับการออกเสียงประชามติในปี พ.ศ.2550 ซึ่งนี่อาจเป็นการสะท้อนภาพจากเครือข่ายของภาคประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ที่ยังมีความกังวลถึงกฎระเบียบที่ยังไม่ชัดเจน ถึงแม้จะมีความพยายามในการทำความเข้าใจกับประชาชนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งในบางพื้นที่ภาคประชาชนไม่อยากเข้ามาร่วมสังเกตการณ์กับมูลนิธิองค์กรกลางฯ เนื่องจากกังวลในข้อกฎหมายต่างๆ ถึงแม้ว่ากระบวนการตรวจสอบหรือสังเกตการณ์เป็นสิทธิของประชาชนในการดำเนินงานภาคประชาชน อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็มีการจัดทำแอพพลิเคชั่น "ตาสัปปะรด" ให้ประชาชนได้ใช้งาน

ประการที่ 2 การจัดการออกเสียงประชามติของคณะกรรมการการเลือกตั้งในด้านต่างๆ เช่น การแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญ การประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการของการออกเสียงประชามติ รวมทั้งการสร้างการรับรู้ความเข้าใจของประชาชนในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงท้าย ที่ในปัจจุบันมีเสียงสะท้อนการจัดการการออกเสียงจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านสื่อมวลชนที่มีข้อกังวลในหลายประเด็น เช่น การแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญทั่วถึงหรือไม่ หรือการทำงานของครู ก ข ค เป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพหรือไม่ มีการชี้นำอย่างไร โดยองค์กรกลางจะทำรายงานอย่างเป็นทางการมีหลักวิชาการโดยประมวลผลการจากสังเกตการณ์ของอาสาสมัครหลังจากวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เป็น 2 รายงาน คือหนึ่งรายงานฉบับเบื้องต้นในวันที่ 9 สิงหาคม 2559 และรายงานฉบับสมบูรณ์ในวันที่ 7 กันยายน 2559 ต่อไป

ในการสังเกตการณ์ในครั้งนี้ มีประเด็นชี้วัดภาพรวมในการออกเสียงประชามติจำนวน 66 ประเด็น เพื่อสะท้อนคุณภาพของผู้ที่ใช้สิทธิออกเสียง บรรยากาศ ประสิทธิภาพของการจัดการ และการทำผิดกฎหมาย โดยประเด็นการสังเกตการณ์นั้นทางมูลนิธิองค์กรกลางฯ ได้จัดทำขึ้นจากการศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด โดยแบ่งเป็นหัวข้อในการสังเกตการณ์ ดังนี้ ขั้นตอนการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนรับรู้ มีความเข้าใจเรื่องเนื้อหาหรือไม่ กระบวนการจัดการเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ การกระทำที่อาจฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ สภาพทั่วไปของหน่วยออกเสียงก่อนเวลาออกเสียง การใช้สิทธิออกเสียง และกระบวนการนับคะแนน โดยในครั้งนี้มีภาคประชาสังคม หน่วยงาน สถานบันการศึกษา ประชาชน และนักศึกษา ใน 20 จังหวัดเป็นอย่างน้อยในการเข้าร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งทำงานแบบจิตอาสาไม่มีค่าตอบแทนในรูปแบบตัวเงินแต่อย่างใด

ในการจัดการการสังเกตการณ์ในครั้งนี้ องค์กรกลางได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเป็นการพัฒนาร่วมกับองค์กรภาคเอกชนที่มีประสบการณ์มาพัฒนาระบบสังเกตการณ์ที่สามารถประมวลผลแบบเรียลไทม์ จากการรายงานข้อมูลของอาสาสมัครจากทั่วประเทศผ่านโทรศัพท์มือถือ และเป็นระบบปิด อาสาสมัครที่จะมาร่วมสังเกตการณ์ในแต่ละพื้นที่ต้องใส่รหัสผ่านที่ได้รับจากผู้ประสานงานถาวรประจำจังหวัด หลังจากที่ได้รับการอบรมและศึกษาคู่มือ และเข้าใจบทบาท หน้าที่ของอาสาสมัคร (Code of conduct) สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในครั้งนี้ก็สามารถเข้าร่วมได้ โดยติตต่อมาที่ทางมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (PNET) โทรศัพท์เคลื่อนที่เบอร์ 091 734 4125 ทางอีเมล info@pnetforum.org ซึ่งจะมีการส่งแบบฟอร์มอาสาสมัครให้กรอกเพื่อทำการสมัคร

"มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (PNET) หวังว่าการร่วมสังเกตการณ์ขององค์กรและภาคประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ทั้งที่เป็นผู้ประสานถาวรในระดับต่างๆ และอาสาสมัครสังเกตการณ์นั้น จะเป็นเครื่องสะท้อนการดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติในภาพรวม ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ในฐานะองค์กรภาคประชาชนที่ทำหน้าที่นี้มาอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นกลาง ไม่เลือกฝ่าย มีใจอาสา และใฝ่หาคุณธรรม" เอกสารเผยแพร่ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ