(เพิ่มเติม) หัวหน้าพรรค ปชป.ประกาศจุดยืนไม่รับร่าง รธน.เหตุไม่ตอบโจทย์ประเทศ

ข่าวการเมือง Wednesday July 27, 2016 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่สามารถตอบโจทย์ที่จะนำประเทศก้าวพ้นปัญหาเดิมๆ ไปได้ พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ไม่ผ่านความเห็นชอบจากการทำประชามติดังกล่าว

"โจทย์ทั้งสามข้อเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาและให้คำตอบได้ว่า ผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถตอบโจทย์ประเทศให้ก้าวพ้นปัญหาเดิมๆ ไปได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

โดยโจทย์ทั้งสามข้อที่หัวหน้า ปชป.ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถให้คำตอบได้ ประกอบด้วย การกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและผู้ยากจน, การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น และไม่สามารถก้าวพ้นความขัดแย้งในสังคมได้

"รัฐธรรมนูญที่จะประกาศใช้จะต้องเป็นกติกาถาวรของประเทศที่เอื้อให้ประเทศเดินหน้า ก้าวพ้นจากสภาพปัญหาในปัจจุบันได้ โดยมีโทย์สำคัญสามประการคือ ปัญหาทิศทางการพัฒนาประเทศ ปัญหาความขัดแย้งในสังคม และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศในปัจจุบันจะต้องอาศัยหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในความหมายที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางประเทศ และได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสวัสดิการเพื่อเป็นหลักประกันว่าคนที่อ่อนแอ ด้อยโอกาส และยากจนที่สุด จะได้รับการยกระดับความเป็นอยู่ ซึ่งจะทำให้ประเทศและเศรษบกิจในภาพรวมมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน มีการกระจายอำนาจ นอกจากนั้นหลักการประชาธิปไตยที่สำคัญคือการมีกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสมเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคม ป้องกันมิให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจในทางไม่ชอบ โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นตัวกัดกร่อนระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของไทย

"แม้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่การออกแบบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เพียงพอต่อการตอบโจทย์ของประเทศทั้งสามข้อได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า บทบัญญัติในหมวดสิทธิเสรีภาพของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถดถอยไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ทั้งยังเพิ่มบทบาทและอำนาจของระบบราชการ ส่งผลให้รัฐบาลในอนาคตไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาของประเทศและประชาชน รวมทั้งขาดความคล่องตัวในการรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกได้

ส่วนปัญหาการตรวจสอบการถ่วงดุลและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมนั้น การวางน้ำหนักไปที่บทบาทของวุฒิสภาที่มาจากการคัดเลือกหรือแต่งตั้งจะเป็นการเพิ่มคู่ขัดแย้งในระบบการเมืองมากกว่าการแก้ปัญหาดังกล่าว ยิ่งบทบัญญัติที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขได้ยากมากก็จะเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งในอนาคต ไม่ต่างจากความขัดแย้งที่ประเทศไทยเคยผ่านมาในอดีต

ขณะที่การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นตนเองสนับสนุนให้มีการเพิ่มโทษและการเข้มงวดในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่กลไกสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กลับมีบทบัญญัติที่ทำให้ขาดความเป็นอิสระและอ่อนแอลง โดยเฉพาะการให้อำนาจประธานสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรครัฐบาลใช้ดุลพินิจในกระบวนการตรวจสอบของ ป.ป.ช. และการลดเงื่อนไขให้มีการอุทธรณ์ในคดีทุจริตของนักการเมืองได้ง่ายขึ้น โดยการอุทธรณ์นั้นจะมีการดำเนินการโดยองค์คณะใหม่แทนที่จะเป็นที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาเช่นในอดีต โดยคาดว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติใหม่นี้กลุ่มแรกคือจำเลยในคดีจำนำข้าว

หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า การแถลงจุดยืนของตนเองในวันนี้แม้ไม่ได้เป็นมติพรรคเนื่องจากไม่สามารถจัดการประชุมพรรคได้ แต่อยู่บนพื้นฐานของอุดมการณ์พรรคที่ประกาศมาตั้งแต่ปี 2489 ซึ่งตนเองให้ความสำคัญสูงสุดกับอนาคตของประเทศที่ปัจจุบันตกอยู่ภายในวิกฤตมายาวนานกว่าทศวรรษจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเดินหน้าได้ตามศักยภาพ ที่สำคัญทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยจำนวนมากอยู่ในภาวะยากจน

"เมื่อผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการประชามติก็ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับคสช.หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายแต่อย่างใด ตรงกันข้ามหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการประชามติ ผมสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวและโรดแมพที่ได้ประกาศไว้ โดยใช้โอกาสนี้เป็นกุญแจไปสู่การหยิบยื่นสิ่งที่ดีกว่าให้แก่ประชาชน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

หัวหน้าพรรค ปชป.เสนอให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งผ่านการประชามติของประชาชนมาแล้วและมีบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ดีที่สุด รวมทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผูกมัดทุกองค์กร มิให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ เช่น กรณีการกู้เงินเพื่อหลีกเลี่ยงระบบงบประมาณมาเป็นหลัก ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายและทบทวนจุดแข็งจุดอ่อนของร่างรัฐธรรมนูญสองฉบับที่ผ่านมา

"ยืนยันที่จะสนับสนุนให้มีบทบัญญัติที่เข้มข้นขึ้นในเรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น มีกลไกที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอดีตและนำไปสู่การปฏิรูปที่เป็นธรรม ผมสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ระยะเวลาตามโรดแมพที่เหลือขับเคลื่อนการปฏิรูปที่สำคัญให้เกิดเป็นรูปธรรมก่อนการเลือกตั้ง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า ตนเองไม่เคยคิดสมคบ หรือรวมหัวกับพรรคการเมืองอื่นตามที่มีการกล่าวหา การแถลงจุดยืนในครั้งนี้มิได้มีความประสงค์จะให้เกิดความขัดแย้งกับใคร แต่ยึดประโยชน์ส่วนรวมและอนาคตของประเทศเป็นที่ตั้ง ขอให้สังคมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญจากเนื้อหาสาระโดยปราศจากอคติ ไม่ว่าจะเป็นต่อทหาร นักการเมือง องค์กรภาคประชาชน หรือนักวิชาการที่ออกมาแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย

"การแถลงจุดยืนของผมในวันนี้เป็นความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจที่ต้องการนำบ้านเมืองไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ปชป.ต้องการเห็นก้าวแรกของการเมืองใหม่ เพราะหากทุกฝ่ายยังทะเลาะเบาะแว้งกัน การเมืองก็ไม่สามารถหลุดพ้นวิกฤตไปได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

หลังแถลงเสร็จสิ้น นายอภิสิทธิ์ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเพิ่มเติม เพราะอยากให้ทุกฝ่ายนำคำแถลงในวันนี้ไปพิจารณา แต่พร้อมจะชี้แจงคำวิพากษ์จารณ์ในภายหลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ