ประธาน กรธ. ยันแก้ร่างรธน.ต้องสอดคล้องคำถามพ่วง นัดหารือความชัดเจนสนช.อีกครั้ง 24 ส.ค.นี้

ข่าวการเมือง Monday August 22, 2016 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันว่าการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องมีความสอดคล้องกับประเด็นคำถามพ่วงที่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนจากการทำประชามติ ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยจะนำคำชี้แจงจากที่ตัวแทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอมา

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับคำถามพ่วงคงจะไม่ไปสอบถามทางรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้จากรัฐบาล ถ้าไปถามรัฐบาลก็ได้แต่ตอบความรู้สึก จึงไม่ควรนำไปเกี่ยวข้องกับรัฐบาล เมื่อคำถามพ่วงมาจาก สนช.ก็ควรฟังจาก สนช. แต่ฟังแล้วไม่ได้แปลว่า กรธ.ต้องทำตาม เพราะถ้าเห็นด้วยก็โอเค แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็จะเขียนไปตามที่เห็น

หาก ส.ว.จะเสนอชื่อนายกฯ ได้จริง ภาพการเมืองในอนาคตจะเป็นปัญหาหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปกลัวในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ขอให้รอดูสิ่งที่ กรธ.เขียนก่อน ส่วน สนช.โยนความรับผิดชอบกลับมาให้ กรธ.ว่า หาก กรธ.อยากเขียนหรือไม่เขียนก็ได้ ไม่ใช่ความอยากของ กรธ. เพราะ กรธ.จะอยากหรือไม่อยากอย่างไร อยู่ที่คำถามพ่วงว่าเขียนอย่างไรก็อย่างนั้น

"กรธ.เองก็อยากเพิ่มคำถามพ่วงเป็นอีก 1 มาตรายังไม่กล้าเลย เพราะตอนไปทำประชามติถามประชาชนมี 279 มาตรา ดังนั้นจึงต้องมาทางแทรกเพื่อคง 279 มาตราไว้ ต้องยึดหลักว่าเมื่อไปทำประชามติแล้ว ประชาชนก็โหวตรับแล้ว ก็แปลว่า รับตามนั้น" นายมีชัย กล่าว

ส่วนข้อเสนอของนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ที่มองว่าในกระบวนการเสนอชื่อนายกฯ ส.ว.ควรเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อแก้ปัญหากรณีคนที่ประชาชนชอบไม่ได้รับเลือกตั้งเพื่อแก้ไข death lock ทางการเมือง นายมีชัย กล่าวว่า หากเสนอตอนทำร่างรัฐธรรมนูญก็อาจเป็นไปได้ แต่ตอนนี้มันผ่านไปแล้ว

ส่วนกรณีการเลือกนายกฯ ในสภาฯ ไม่มีกำหนดล็อคเวลาว่าต้องให้ได้นายกฯ เมื่อใดอาจเป็นประเด็นขึ้นได้นั้น นายมีชัย กล่าวว่า ในร่างรัฐธรรมนูญมีทางออกโดยธรรมชาติอยู่แล้ว คือ ให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งหากสภาฯ ชุดแรกหลังจากการเลือกตั้ง คุยกันไม่ลงตัว รัฐบาลปัจจุบันก็จะอยู่ไป ทั้งนี้การนับวาระของรัฐบาลใหม่นั้นให้เริ่มจากวันเลือกตั้ง ดังนั้นหากนักการเมืองตกลงกันไม่ได้ จนเวลาเลยไปกว่า 2 ปี รัฐบาลปัจจุบันก็จะอยู่ต่อไป และหากในช่วงผ่านไป 2 ปี แล้วตั้งรัฐบาลได้ เขาจะมีวาระอยู่ในตำแหน่งเพียง 2 ปีที่เหลือ ดังนั้นเป็นเหตุผลสำคัญที่นักการเมืองต้องรีบตกลงกันให้ได้โดยเร็ว

นายมีชัย กล่าวว่า สำหรับการหารือระหว่าง กรธ.กับ สนช.เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมายังไม่มีข้อสรุปร่วมกัน กรธ.เพียงแต่ฟังว่า สนช.คิดเห็นอย่างไรกับคำถามพ่วง โดยจะหารือกันอีกครั้งในวันที่ 24 ส.ค.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ