ครม.-คสช.ถกที่มานายกฯ ย้ำต้องยึดตามคำถามพ่วง แนะส่งศาลรธน.ตัดสินหากหาข้อสรุปไม่ได้

ข่าวการเมือง Tuesday August 23, 2016 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า วันนี้ได้มีการประชุมครม.และคสช.ในวาระพิเศษ ซึ่งได้หารือและสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการทำประชามติและคำถามพ่วง โดยได้ข้อสรุปว่าใน 5 ปีแรกหลังการเลือกตั้ง ส.ส. 500 คน และส.ว. 250 คน รวม 750 คนจะเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองเสนอพรรคละ 3 รายชื่อในขั้นตอนแรก ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบ 376 คน

หากเลือกแล้วคะแนนไม่ถึงครึ่ง 376 คน ก็เลือกในรอบ 2 ที่มาจากนอกรายชื่อ โดยขึ้นอยู่กับ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไปหารือกับ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าจะกำหนดอย่างไร แต่ต้องยึดตามประเด็นในคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติ จะบิดเบือนไม่ได้

"ประเด็นของผมถ้าได้คนดีมาแล้วส.ส.เสนอมา แล้วใครจะปฏิเสธเขาได้ เขาต้องยินยอม ต้องได้คะแนนเสียงครึ่งหนึ่ง 376 จากสองสภานั้นแหละ นี้คือความเข้าใจของผม ของครม.ทั้งหมดชี้แจงโดยอ.วิษณุซึ่งเป็นฝ่ายกฏหมายรัฐหมายเชื่อมต่อกับกรธ. ก็สร้างความเข้าใจร่วมกันต่อไปจะได้หยุดสักทีว่าจะอย่างไร ผมก็ยืนยันเป็นไปตามนี้ตามที่ผมพูด"พลเอกประยุทธ์ กล่าว

โดยส่วนตัวยังไม่ทราบว่าจะกำหนดให้ใครเป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอก แต่หาก กรธ.กับ สนช.ตัดสินไม่ได้ ก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสิน แต่เห็นว่าคนที่ถูกเสนอชื่อมาต้องเป็นคนดี มีธรรมภิบาล ไม่ทำผิดกฏหมาย แต่อย่าเอาตนเองเข้าไปเกี่ยวข้อง

"คำถามพ่วงที่เขาเขียนเพื่อต้องการแก้ปัญหาที่เคยทะเลาะกันมา ทำอะไรไม่ได้จะไปมาตรา 7 เขาชี้แจงมาแบบนี้ เขาจึงมีทางออกให้ตรงนี้ แต่สุดแล้วแต่จะมาอย่างไรผมไม่รู้ ใครจะเลือกมาจากสวรรค์ชั้นฟ้าไหนไปเลือกมาเถอะ มันสำคัญคนถูกเลือกยอมหรือไม่ ไม่ใช่อยู่ดีๆส่งใครมาก็ได้"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นอกจากนี้ ครม.และคสช. มีมติแก้ไขมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพิ่มจำนวน สนช. จากเดิมไม่เกิน 220 คน เพิ่มเป็นไม่เกิน 250 คน โดยคาดว่าจะมีฝ่ายความมั่นคงเข้ามาร่วมด้วย พร้อมยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจ แต่เข้ามาช่วยในการเร่งรัดการออกกฏหมายที่สำคัญของรัฐธรรมนูญที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 50 ฉบับและกฏหมายตามนโยบายรัฐบาลอีก 10 กว่าฉบับ โดยจะทำหน้าที่จนถึงวันก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น และไม่มีข้อผูกมัดต้องกลับมาเป็นส.ว.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ