ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง เตรียมส่งสนช.พิจารณา

ข่าวการเมือง Tuesday September 20, 2016 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาการได้ตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

พร้อมกันนี้ ยังรับทราบแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรอง และกรอบระยะเวลาของร่าง พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเสนอ

โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ดังนี้

1. เพิ่มบทนิยามคำว่า "ห้างหุ้นส่วน" และ "บริษัท"

2. กำหนดห้ามประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรงดำรงตำแหน่งหรือถือหุ้นเกินจำนวนที่กำหนดในบริษัทที่ประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง

3. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงต้องเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง

4. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้จำหน่ายอิสระร่วม รับผิดต่อผู้บริโภคในความชำรุดบกพร่องของสินค้าหรือผู้บริการที่ผู้จำหน่ายอิสระขายให้แก่ผู้บริโภคหรือความเสียหายที่ผู้จำหน่ายอิสระนั้นได้ก่อขึ้นจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่

5. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงแจ้งการย้ายสำนักงานและส่งรายงานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียน

6. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงมีหน้าที่จัดทำเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้บริโภค และกำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม

7. กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีทุนจดทะเบียนและชำระแล้วไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท

8. กำหนดให้ต้องมีการวางหลักประกันรวมทั้งหลักเกณฑ์ในการจ่ายหลักประกันเพื่อชดเชยความเสียหายแก่ผู้บริโภค

9. กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคำขอจดทะเบียนของนายทะเบียน

10. กำหนดหลักเกณฑ์การโอนกิจการและการเลิกประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง และกำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน

11. กำหนดเหตุเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงและเหตุอุทธรณ์

12. กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียน

13. กำหนดบทลงโทษสำหรับการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการโฆษณา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ