"วิษณุ"เผยรายชื่อ 80 ขรก.โกงถึงมือแล้ว แย้มเอาจริงออกกม.ปราบโกง 7 ชั่วโคตร

ข่าวการเมือง Wednesday September 21, 2016 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายปราบปราทุจริตของรัฐบาลว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) , คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) , คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) , กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) โดยทุกหน่วยงานได้ตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบแล้วรายงานเข้ามาจนนำไปสู่การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งได้สั่งพักงานหรือให้ออกไปเกือบ 300 คนแล้ว ตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวง อธิบดี ข้าราชการระดับซี 7 ซี 8 หรือแม้แต่ข้าราชการท้องถิ่น และล่าสุดมีข้าราชการที่เข้าไปเกี่ยวพันเรื่องทุจริตอีก 80 คน

"ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กันยายน มีการส่งรายชื่อมาเกือบ 80 คน เป็นท้องถิ่นทั้งนั้น ยกครัว ยกจังหวัด ทุจริตเรื่องเดียวกัน คล้ายๆ กัน ดูแล้วเป็นเรื่องความตั้งใจทุจริตก็มี และไม่รู้จริงในอำนาจหน้าที่ของตัวเองแท้ๆ นึกว่าทำได้" นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า แนวทางป้องกันการทุจริตนอกเหนือจากการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ จะมีการออกคู่มือแนะนำแนวทางการปฏิบัติให้กับข้าราชการออกมา และได้เตรียมกฏหมายอีกหลายฉบับ ทั้งร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฉบับใหม่ รวมถึงกฎหมายวินัยการเงินการคลังภาครัฐ และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม

"ที่เรียกกันว่ากฎหมาย 7 ชั่วโคตร ซึ่งยังไม่ออก แต่บอกเลยว่าออกมาใช้แน่ ใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนในประเทศไทย ในนั้นเข้มงวดมาก อะไรทำได้ อะไรไม่ได้ ต้องระวังอย่างมาก ใครริเริ่มโครงการอะไร ใครอนุมัติโครงการ ถ้าเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวได้มากกว่าส่วนรวม คนต้นคิดผิดหมดทั้งกระบวนการจนถึงคณะรัฐมนตรี และที่ปล่อยข่าวไม่ได้เว่อร์ แต่เป็นเรื่องจริง อย่างต่อไปเอาโทรศัพท์ชาร์ตไฟราชการถือมีความผิด ใช้ซองตราครุฑใส่ตังค์ไปให้ของขวัญผิด โดยว่าด้วยกฎหมายผลประโยชน์ทับซ้อนก็ผิด โดยวิธีปฏิบัติอย่างนี้เขาก็มีกัน กฎหมายเหล่านี้เอามาขู่ แต่ก็มีข้อยกเว้น ผมเอาสิ่งเหล่านี้มาพูดเพื่อบอกให้รู้ว่า นับวันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมยากขึ้นทุกที คู่มืออาจจะไม่พอ สัมมนาอาจไม่พอ ต้องซักซ้อมกันมาก" นายวิษณุ กล่าว

สำหรับมาตรการป้องกันการทุจริต คอร์รัปชัน และประพฤติมิชอบนั้นถือเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ป้องกันและปราบปราม ซึ่งรัฐบาลเน้นการตัดไฟแต่ต้นลมคือการป้องกัน เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ