"ยิ่งลักษณ์"ให้ทนายยื่นค้านตั้ง"สุภา"นั่งปธ.อนุฯสอบทุกคดี รอบ 8 อ้างเป็นคู่ขัดแย้งชัดเจน

ข่าวการเมือง Thursday September 22, 2016 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ที่ประชุม ป.ป.ช.ทบทวนคำสั่งหรือมติแต่งตั้ง น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นกรรมการ ป.ป.ช.ผู้รับผิดชอบสำนวน และประธานอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้ที่มีอคติ หรือมีสาเหตุโกรธเคือง หรือปฏิบัติในทางเป็นปฏิปักษ์ ทำให้เกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติยกคำคัดค้านไปแล้วรวม 7 ครั้ง

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุเหตุผลของการยื่นคำคัดค้านครั้งที่ 8 ว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลที่ชัดเจนในการยกคำคัดค้านที่ผ่านมา ขณะที่การแสดงออกทางกายภาพของ น.ส.สุภา มีปรากฎให้เห็น เช่น กรณีเป็นพยานคดีที่ ป.ป.ช.กล่าวหาตนเอง, กรณีนำข้อมูลที่รับผิดชอบขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นรองปลัดกระทรวงการคลังไปให้กับพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เป็นต้น

"การมีมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.โดยมอบหมายให้นางสาวสุภาฯ เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนถึง 5 คดีนั้นจึงอยู่ในประการที่ส่อไปในทางที่จะขัดต่อระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ข้าราชการและลูกจ้างสำนักงาน ป.ป.ช. พ.ศ.2551 หมวด 4 จริยธรรมในการไต่สวน ข้อ 23, 25, 26, 27, 28" หนังสือคัดค้านฯ ระบุ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ น.ส.สุภาฯ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง และยังเป็นคำสั่งหรือมติที่ขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 และระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ข้าราชการและลูกจ้างสำนักงาน ป.ป.ช. พ.ศ.2551


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ