กรธ.เคาะตั้งพรรคการเมืองใหม่มีสมาชิกขั้นต่ำ 500 คน ทุนประเดิม 1 ล้านบาท

ข่าวการเมือง Wednesday October 26, 2016 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พรป.ว่าด้วยพรรคการเมืองว่า ได้พิจารณาในส่วนของการจัดตั้งและจดทะเบียนพรรคการเมืองแล้วแสร็จ โดยเนื้อหาที่พิจารณาในเบื้องต้น คือ กำหนดให้การจัดตั้งพรรคการเมืองสามารถดำเนินการได้ โดยการริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองด้วยคณะผู้เริ่มไม่น้อยกว่า 15 คน ซึ่งยื่นรายละเอียดไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จากนั้นให้ผู้ริเริ่มดำเนินการหาสมาชิกพรรคการเมืองให้ได้ไม่น้อยกว่า 500 คน ซึ่งต้องมีสัดส่วนสมาชิกที่กระจายตัวไปในแต่ละภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วสามารถยื่นขอจัดตั้งพรรคการเมืองต่อ กกต.ได้ทันที ซึ่งเป็นการปรับปรุงเนื้อหาให้ง่ายขึ้นกว่าร่างของ กกต.ที่เสนอให้มีสมาชิกพรรคเริ่มต้น 5,000 คน กระจายตัวในแต่ละภูมิภาคละไม่น้อยกว่า 500 คน

"ในการพิจารณาของ กรธ.นั้นเรียกว่าอยู่ในระยะเร่งรัดพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งหลังจากนี้ กรธ.ได้เชิญเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน กกต.เข้าร่วมประชุมทุกครั้งเพื่อสอบถามความเห็นในทางปฏิบัติและเจตนารมณ์ของการยกร่าง พรป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับที่ กกต.นำเสนอ โดย กรธ.ได้วางแผนทำงานว่าภายหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญใช้บังคับ ซึ่ง กรธ.คาดคะเนและประเมินกันเองว่าอาจอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือเดือนธันวาคมนี้ จะส่งเนื้อหาร่าง พรป.พรรคการเมือง และร่าง พรป.กกต.ให้ สนช. พิจารณาทันที" นายอุดม กล่าว

โฆษก กรธ.กล่าวว่า ตามเนื้อหาได้กำหนดให้ผู้ริเริ่มและสมาชิกพรรคการเมืองฐานผู้ร่วมก่อตั้งต้องชำระเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมให้พรรคการเมืองไม่น้อยกว่าคนละ 2,000 บาท หรือมากกว่าแล้วแต่พรรคกำหนด เพื่อใช้ในกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ซึ่ง กรธ.ประเมินว่าเมื่อช่วงก่อตั้งพรรคการเมืองควรมีเงินทุนดำเนินการอย่างน้อย 1 ล้านบาท ซึ่งได้จากสมาชิกพรรคผู้ก่อตั้ง และเพื่อเป็นหลักที่ทำให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในพรรคได้

นอกจากนี้ กรธ.มีแนวคิดด้วยว่าในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองนั้นจะมีประเด็นทางด้านสังคมอื่น ๆ เพิ่มเติม จากบทบาทของนักการเมืองที่ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ หรือกิจกรรมเฉพาะช่วงหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งกลไกดังกล่าวต้องพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง ประกอบกับการรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ