นายกฯ สั่งเร่งรัดคดีทุจริตที่สร้างความเสียหายกับประเทศ ขึ้นแบล็กลิสต์นักธุรกิจทุจริต-ทิ้งงาน

ข่าวการเมือง Monday December 19, 2016 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ(ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเร่งรัดคดีทุจริตที่สร้างความเสียหายกับประเทศอย่างร้ายแรง เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทรที่ผ่านมาแล้วกว่า 20 ปี ไปรวบรวมข้อมูลและรายงานความคืบหน้าคดีนี้ในการประชุมครั้งต่อไป พร้อมสั่งการให้มีการขึ้นบัญชีดำนักธุรกิจที่ทุจริตหรือมีการทิ้งงานในโครงการต่างๆของภาครัฐ เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลในการป้องกันการทุจริต

ในส่วนของความคืบหน้าการตรวจสอบข้อมูลผู้ที่ต้องรับผิดชอบความเสียหายในการรับจำนำข้าว ในส่วนร้อยละ 80 ของความเสียหายทั้งหมด นายประยงค์ กล่าวว่า ขณะนี้รอข้อมูลในระดับจังหวัดที่จะส่งมาตรวจสอบ ซึ่งจะส่งมาในเร็วๆนี้ ในส่วนของคดีที่ ปปท. ดำเนินการอยู่ 986 คดี ทาง ปปท.แต่งตั้งอนุกกรรมการตรวจสอบแล้ว 911 คดีและจะเชิญอนุกรรมการชุดต่างๆมาหารือภายในสัปดาห์นี้ เพื่อสอบถามความคืบหน้าการทำงาน โดยยังคงกรอบการทำงานอยู่ที่ 6 เดือน ตามกรอบเดิม แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และความเชื่อมโยงกับคดีอื่นๆ ก็จะส่งผลต่อกรอบเวลาไต่สวนได้

ด้านคำสั่งมาตรา 44 ที่โยกย้ายข้าราชการ มีจำนวน 353 คน ต้นสังกัดลงโทษแล้ว 81 ราย /คณะกรรมการป่องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูล 17 ราย ต้นสังกัดตรวจสอบทางวินัยตามอำนาจหน้าที่ 40 ราย

ขณะที่นายกรัฐมนตรี สั่งการให้มีหนังสือชมเชยไปยังหน่วยงานที่มีผลงานด้านความโปร่งใสดีเยี่ยม 157 หน่วยงาน ขณะที่มี 5 หน่วยงานที่ยังมีผลคะแนนประเมินต่ำ

สำหรับคะแนนด้านความเชื่อมั่น จะมีความสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ที่ประชุมจึงมีมติให้นำ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกมาใช้ในทุกหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานรัฐบาลที่จะรับการประเมินจากต่างประเทศ ต้องเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ 2 ภาษา เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐได้ดำเนินการปรับปรุงไปมากแล้ว แต่นักลงทุนต่างประเทศยังไม่ทราบ โดยเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน

ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เปิดเผยว่า ที่ประชุมสั่งการให้แต่ละหน่วยงานเร่งรัดการจัดทำคู่มือและแนวทางพัฒนาการให้บริการประชาชนตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก โดยหน่วยงานนำร่อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมที่ดิน และกรมศุลกากร ขณะที่กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เสนอตัวเป็นหน่วยงานต้นแบบในการพัฒนาระบบให้บริการประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า การจัดทำคู่บริการประชาชน มีมากกว่า 8.7 แสนคู่มือ แต่ทาง กพร. ได้ตรวจความถูกต้องได้เพียง 3.5 หมื่นคู่มือเท่านั้น ที่ประชุมจึงอนุมัติให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานประกาศใช้คู่มือออกไปก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ