นายกฯ ยันต้องการให้พ.ร.บ.ปิโตรเลียมมีผลบังคับใช้ เพื่อวางแผนพลังงานของประเทศในอนาคต

ข่าวการเมือง Tuesday March 28, 2017 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวจดหมายเปิดผนึกเพื่อคัดค้านการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ที่ถูกบรรจุอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ เป็นกฎหมายเดิมที่มีการยกร่างมาตั้งปี 2557 และมีความพยายามจะผลักดันกฎหมายออกมาก่อนที่ตนเองจะมาเป็นรัฐบาล แต่ก็มีหลายฝ่ายออกมาคัดค้านจนไม่สามารถออกกฎหมายได้

ซึ่งรัฐบาลนี้ได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายมาตามลำดับ จนเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. และมีการตั้งคณะกรรมาธิการมาดูแล แต่พบว่ากรรมาธิการก็ถูกเครือข่ายปฏิรูปพลังงานกดดัน ทั้งนี้ยอมรับว่าในบางเรื่องไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ เพราะประเทศไทยยังไม่พร้อมและยังไม่มีความจำเป็น เนื่องจากไทยมีบริษัทที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ดูแลสัมปทานอยู่แล้ว แต่กลุ่มดังกล่าวก็ยังจะประกาศมาประท้วงที่รัฐสภาและที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าเหตุใดถึงไม่ยอมรับกับข้อสรุปที่ออกมา และใช้แนวทางการประท้วงที่ทำให้ประเทศเสียหายและเสียประโยชน์ พร้อมทั้งมีการขยายความเชื่อมโยงไปยังการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน

ส่วนข้อเรียกร้องที่ขอให้ตัดมาตรา 10/1 ที่มองว่ามีการการสอดไส้ให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ที่มีกรมพลังงานทหารเป็นผู้ดูแลนั้น นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่มีแนวคิดให้กรมพลังงานทหารเข้ามาบริหารกิจการน้ำมัน และไม่สามารถทำหน้าที่เป็นสถานประกอบการธุรกิจ เนื่องจากขีดความสามารถไม่ถึง จึงอยากให้ทุกเครือข่ายได้เข้าใจด้วย

พร้อมกันนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลมีความต้องการให้ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ออกมาประกาศใช้ เพื่อมาดูแลในเรื่องการลงทุนการขุดเจาะน้ำมัน เพราะมีหลายพื้นที่ที่จะต้องทำสัมปทาน หรือแบ่งปันผลผลิต (PSC) เพื่อวางแผนพลังงานที่จะขาดแคลนในอนาคต ทั้งนี้หากมีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้น ก็ยังไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้ดูแล แต่ที่ชัดเจนคือไม่ใช่ตนเองแน่นอน

ส่วนที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ออกมาระบุว่าในกรรมาธิการพิจารณาร่างกฏหมายฉบับนี้ส่วนใหญ่เป็นทหารเข้ามาทำหน้าที่นั้น นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า เนื่องจากไม่มีใครเข้ามาเป็นกรรมาธิการ ทหารจึงต้องเข้ามาทำหน้าที่ เพราะถูกกลุ่มที่คัดค้านกดดันอย่างหนัก

ส่วนการทำความเข้าใจการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้นั้น ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปทำความเข้าใจแล้ว แต่พบว่าประชาชนในพื้นที่กลับเข้าใจไม่ตรงกันกับรัฐบาล ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง และสุดท้ายรัฐบาลก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ และหากยังมีการออกมาประท้วง รัฐบาลจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพราะถือว่าทำผิดกฎหมาย และที่ผ่านมาให้อภัยแล้วหลายครั้ง ซึ่งทุกคนต้องยอมรับกติกา เพราะอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ