"วิษณุ"เผย คสช.จะใช้ ม.44 ออกคำสั่งสรรหาองค์กรอิสระที่จะครบวาระตามวิธีการใน กม.ลูก

ข่าวการเมือง Friday April 7, 2017 12:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฏหมาย เปิดเผยว่า การดำเนินการกฎหมายลูกในเรื่องการสรรหาองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูยฉบัยใหม่นั้น องค์กรอิสระหลายองค์กรที่ยังไม่ครบวาระยังคงทำหน้าที่ต่อไปได้ และในไม่ช้ากฎหมายลูกก็จะออกมา ก็จะไปรับกันกับกฎหมายลูกที่จะเขียนออกมาใหม่ ซึ่งอาจจะเขียนให้ต้องสรรหาใหม่ หรือ เซ็ตซีโร่ หรือ อยู่ต่อไป สุดแท้แต่กฎหมายลูกที่จะออกมา

แต่ในขณะนี้มีองค์กรที่เป็นปัญหาอยู่ 2-3 องค์กร คือ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่จะครบวาระในเดือน ก.ย.60 ซึ่งกฏหมายลูกคงยังแล้วเสร็จไม่ทัน จึงต้องอาศัยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 กำหนดไปก่อนว่าจะให้ทำอย่างไร ซึ่งจะสรรหาตามวิธีการที่จะกำหนดไว้ในกฎหมายลูก และได้ประสานกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อให้เป็นคำสั่งที่สอดคล้องกัน

รวมทั้งกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ซึ่งจะครบวาระหรือมีอายุครบเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในเดือน พ.ค.นี้ถึง 5 คน จึงจำเป็นต้องมีการสรรหาใหม่ เพราะบทบัญญัติในกฎหมายเดิมไม่ได้ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่จะปล่อยให้ว่างเว้นไม่ได้ จึงต้องดำเนินการสรรหา และในระหว่างสรรหาให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากระบวนสรรหาจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะสอดคล้องกับกฎหมายลูกที่กำลังจะออกมาเช่นเดียวกัน

นายยวิษณุ กล่าวว่า จากนี้ไปคงต้องระมัดระวังการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น แต่คำสั่งตามมาตรา 44 ที่ยังมีอยู่และก็ออกเพิ่มเติมได้ เพียงแต่เมื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว ครม.และ คสช.พ้นไป อำนาจตามมาตรา 44 หมดไป แต่ผลที่เกิดจากการสั่งไว้แล้วจะยังคงอยู่ ถ้าไม่มีการยกเลิกไปก่อน ก็เป็นหน้าที่รัฐบาลใหม่มาจัดการ หากเห็นว่าควรยกเลิกก็ต้องออก พ.ร.บ.มารองรับ ซึ่งจะเป็นการออก พ.ร.บ.ยกเลิกทีเดียวหลายฉบับก็ได้

"รัฐบาลนี้จะไม่ออก พ.ร.บ.ยกเลิก รอรัฐบาลใหม่ไปเลย แต่รัฐบาลนี้สามารถออกคำสั่ง คสช. ยกเลิกคำสั่งเดิมได้ และมีหลายฉบับที่ต้องยกเลิก แต่ยังไม่ทราบจำนวน เพราะยังไม่ได้นับ"นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การดำเนินการต่างๆของรัฐบาลจะเหมือนเดิม แต่กระทรวงต่างๆต้องระมัดระวังในการเสนอกฎหมาย และข้อบังคับการประชุมสภาก็จะเปลี่ยนไป โดยจะต้องปรับพฤติกรรมให้เข้ากับข้อบังคับ และกรณีที่รัฐบาลจะเสนอกฎหมายก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมให้เข้ากับข้อบังคับ เช่น ระเบียบแบบแผนที่จะไม่เหมือนของเดิม และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ต้องเป็นไปตามแผนปฏิรูป หรือ เป็นไปตามขั้นตอนแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยกฎหมายต้องไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ใช้บังคับกับใครเจาะจง และคำนึงถึงหลักนิติธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ส่วนที่จะต้องเร่งรัดเป็นเรื่องของการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และการดำเนินการ ซึ่งมีทั้งที่ต้องออกกฎหมายดำเนินการทันที หรือ บางอย่างทำภายในเวลา 4 -12 เดือน ส่วนที่เกินกว่านั้นค่อยมาหารือกันอีกครั้ง โดยร่างกฏหมายที่ต้องดำเนินการให้เสร็จและเสนอสภา เพื่อประกาศใช้มีอยู่ 2 ฉบับคือ กฎหมายเกี่ยวกับแผนปฏิรูปและการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งต้องทำให้เสร็จใน 4 เดือน

ส่วนกฎหมายที่แค่ยกร่างให้เสร็จและเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนที่จะต้องทำทันทีมีหลายเรื่องแต่ไม่ใช่กฎหมาย เป็นเรื่องเปลี่ยนพฤติกรรม วิธีปฏิบัติ ในเรื่องบริการประชาชน เรื่องต่อต้านการทุจริต การออกกฎหมายที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะได้มีการซักซ้อมกันมา 4-6 เดือนก่อนหน้านี้

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ในส่วนคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) ยังคงทำหน้าที่ต่อไป แต่จะค่อยๆปรับให้เข้ากับยุทธศาสตร์ต่างๆ ซึ่ง ปยป. ถือเป็นเครื่องมือกลไกของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนงาน เพราะต่อจากนี้ไปการขับเคลื่อนงานจะเปลี่ยนไปอยู่ที่ ปยป.ทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ