นายกฯ ถก"มินิ คาบิเนต"เร่งแก้กม. EEC เล็งออกมาตรการเพิ่ม-ตั้งศูนย์ข้อมูลกลาง ดึงนลท.เข้าลงทุน

ข่าวการเมือง Monday May 22, 2017 12:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานว่า ที่ประชุม ได้มีการพิจารณาปรับปรุงแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย การแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ โดยเพิ่มภารกิจในการทำยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน รวมถึงการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ตลอดจนเพิ่มคณะกรรมการย่อยอีก 1 ชุด เพื่อทำหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อม การใช้ที่ดินและแหล่งน้ำ เป็นการเฉพาะ

เรื่องที่ 2 เป็นการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับโครงการเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในบางประเด็น โดยรัฐบาลจะออกมาตรการเพิ่มเติมในบางเรื่อง และเรื่องที่ 3 การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business in Thailand) ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จัดตั้งศูนย์ข้อมูลของประเทศ (Data Center Hub) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจให้เสร็จเรียบร้อยภายในเดือน ก.ย.นี้

ส่วนกรณีที่มีผู้โจมตีผลงาน 3 ปีของรัฐบาลนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลก็รับฟังและเชื่อว่ามีคนเข้าใจ ซึ่งต้องมีการชี้แจงมากขึ้น ในส่วนของงานด้านกฎหมายมีความคืบหน้าตามเป้า ซึ่งในวันพรุ่งนี้ นายกฯ จะเป็นคนอธิบายเรื่องดังกล่าวได้ดีที่สุด

ด้านนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า ได้มีการนำข้อเสนอแนะจากธนาคารโลก (World Bank) ที่เห็นว่าขณะนี้เป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้ปรับขั้นตอนการประกอบธุรกิจ หรือที่เรียกว่า ข้อเสนอการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ แบบครบวงจร (Doing Business Portal) เพื่อให้ไทยมีระบบการให้บริการแบบ One Stop Service อย่างแท้จริง เช่นเดียวกับ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และนอร์เวย์ ที่ให้ดำเนินการกรอกแบบฟอร์มการทำธุรกิจ ผ่านแบบฟอร์มเดียวบนอินเตอร์เนต โดยไม่จำเป็นต้องลิงค์ไปยังเว็บไซต์ของหน่วยงานอื่นๆ เพราะขณะนี้การดำเนินการของไทยยังเป็นลักษณะของการกรอกแบบฟอร์มบนอินเตอร์เนต แต่ยังต้องลิงค์ไปยังอีกหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งทำให้ยุ่งยากและเสียเวลา

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเห็นชอบในหลักการให้เร่งดำเนินการในเรื่องของการศึกษาโครงสร้างของเว็บไซต์กลาง การกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบ ภายใน 3 เดือน โดยได้รับงบประมาณฯสนับสนุนจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วงเงิน 4,000 ล้านบาท ซึ่งหากทำได้ตามเป้าหมาย จะทำให้ภาพลักษณ์ด้านการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของไทยอยู่ในระดับชั้นนำของโลก ส่งผลดีต่อการประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ตาม จะมีการนำผลการประชุมในวันนี้ เข้าสู่ที่ประชุมครม.ในวันพรุ่งนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ