นายกฯ มอบนโยบายก.แรงงานเร่งแก้ปัญหาค้ามนุษย์ กำชับดูแลแรงงานใน-นอกระบบ

ข่าวการเมือง Thursday June 29, 2017 14:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า เพื่อมอบนโยบายให้ก.แรงงานในวันนี้ถือว่ามีความสำคัญเนื่องจากเหลือเวลา 3 เดือนในการทำงานของปีงบประมาณ 2560 และงบประมาณใหม่จะเริ่มต้นในเดือนต.ค.60 จึงต้องเร่งดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามห้วงเวลาที่กำหนด เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ได้ในทุกกิจการ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องแก้ปัญหาให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง รวมถึงวาระแห่งชาติอื่น ๆ ด้วย

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงผลประชุมว่า กระทรวงแรงงานได้รายงานผลการดำเนินการตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเน้นการเตรียมความพร้อมคนสู่ศตวรรษที่ 21 รวมถึงการดูแลแรงงานนอกระบบ โดยดูแลตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ เพื่อสอดรับกับการวางยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล โดยกระทรวงฯ จะเข้าไปแนะแนวอาชีพให้กับนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมและมัธยมในเรื่องการทดสอบความถนัด ส่วนระดับอาชีวะศึกษาและระดับมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนให้กับภาคเอกชนที่รับนักศึกษาไปฝึกงานด้วยมาตรการทางภาษีตามสิทธิประโยชน์ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ขณะที่วัยแรงงานก็จะมีการตั้งสถาบันเทคโนโลยีชั้นสูง 12 แห่ง เพื่อยกระดับแรงงานทั่วประเทศไปสู่ยุค 4.0 นอกจากนั้นมีมาตรการเสริมให้กับภาคเอกชนได้พัฒนาบุคลากรของตัวเอง โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถพัฒนากลุ่มแรงงานในระบบได้ปีละ 4 ล้านคน

ส่วนการดูแลแรงงานในระบบจะมีการฝึกอาชีพ หาแหล่งเงินทุน ดูแลด้านสาธารณสุข ความปลอดภัยในการทำงาน การสร้างเครือข่ายแรงงานให้เข้มแข็ง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้ปรับสิทธิประโยชน์ด้านประกันสังคมตามมาตรา 40 เข้ามารองรับกับกลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2561 จะสามารถพัฒนาศักยภาพแรงงานนอกระบบประมาณ 1.2 ล้านคน โดยเน้นกลุ่มที่ไปขึ้นทะเบียนคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 3 หมื่นบาท

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายว่า ขอให้ทุกกระทรวงทำงานในรูปแบบบูรณาการ และเร่งดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด

ด้านนายวรานนท์ ปิติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงข้อกังวลของฝ่ายต่างๆ หลังประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งเพิ่มโทษปรับนายจ้างใช้แรงงานผิดกฎหมายไว้ตั้งแต่ 4 แสนถึง 8 แสนบาท ว่า นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงและได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด และห้ามไม่ให้ใช้ช่องว่างระหว่างที่บังคับใช้กฎหมายในช่วงต้นไปเรียกรับผลประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวและผู้ประกอบการ หากพบว่าเจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์จะถูกดำเนินการอย่างเด็ดขาด รวมทั้งต้องหามาตรการผ่อนคลายเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อการประกอบธุรกิจ

อธิบดีกรมการจัดหางาน ยอมรับว่า ในช่วง 1-2 เดือนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎหมายใหม่ อาจทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานประเภทงานก่อสร้าง งานรับใช้ในบ้าน และเอสเอ็มอี ซึ่งระหว่างนี้นายจ้างสามารถจ้างคนไทยที่มาขึ้นทะเบียนขอทำงานเดือนละ 6-7 พันคนได้ และในระหว่างนี้จะยังไม่มีการเข้าไปตรวจจับ โดยผ่อนผันให้ผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าวไปดำเนินการตามกฎหมายให้ถูกต้อง โดยการส่งตัวแรงงานกลับไปทำพาสปอร์ต วีซ่า และขึ้นทะเบียนในระบบให้ถูกต้อง หรือดำเนินการผ่านโบรกเกอร์ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2 หมื่นบาทต่อคน โดยล่าสุดกระทรวงแรงงานได้ทำเอ็มโอยูกับ ลาว กัมพูชา และเมียนมา เพื่อแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 1-2 เดือน หลังจากนั้นแรงงานถูกกฎหมายก็สามารถกลับเข้ามาทำงานตามปกติ

พร้อมกันนี้ ยืนยันว่า โทษของกฎหมายใหม่ที่มีการเพิ่มค่าปรับเป็น 4-8 แสนบาทไม่ได้สูงเกินไป เพราะเป็นมาตรฐานที่ใกล้เคียงกับการกำหนดโทษของการใช้แรงงานเด็กและประมง ขณะเดียวกันหากเจ้าหน้าที่จะเข้าไปจับกุม ต้องมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานร่วมดำเนินการด้วย โดยตำรวจ-ทหารไม่มีสิทธิเปรียบเทียบปรับ ณ จุดเกิดเหตุได้ เมื่อมีการจับกุม หากผู้กระทำความผิดรับสารภาพก็จะนำไปสู่การเสียค่าปรับตามกฎหมาย โดยให้เป็นอำนาจของนายทะเบียน ซึ่งก็คือผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งปรับได้ แต่หากทำผิดแต่ไม่ยอมรับสารภาพต้องเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นจะนำคดีส่งอัยการ โดยการเปรียบเทียบปรับถือเป็นดุลยพินิจของศาล

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ผ่อนคลายเรื่องการจำกัดการย้ายพื้นที่ทำงาน แต่กำหนดให้แรงงานที่เปลี่ยนนายจ้างใหม่ต้องมีการแจ้งย้ายนายจ้าง ซึ่งเสียค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนครั้งละ 100 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ