นักวิชาการเสนอทางออกเพื่อลดผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายควบคุมคนต่างด้าว

ข่าวการเมือง Sunday July 2, 2017 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า กฎหมายแรงงานต่างด้าวมีความจำเป็นในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวจำนวนมากในประเทศ แต่ผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายได้ส่งผลต่อผู้ประกอบการและแรงงานจำนวนมากที่ปรับตัวไม่ทัน เกิดการขาดแคลนแรงงานและมีการปิดกิจการชั่วคราว เมื่อกฎหมายออกมาโดยไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของภาวะเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน มีโทษสูงและขึ้นอยู่อำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการจึงอาจก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้

"กฎหมายดังกล่าวจะทำให้แรงงานต้องขึ้นทะเบียนและเข้ามาอยู่ในระบบ จะลดปัญหาการทุจริตติดสินบนได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อทำให้การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวมาทำงานต้องมีต้นทุนต่ำกว่าการติดสินบนกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไตรมาสสามอาจขยายตัวไม่ถึง 3% กฎหมายใหม่นี้ควรมีเนื้อหาการปฏิรูประบบแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ การเปิดเสรีตลาดแรงงานในสาขาที่ขาดแคลน เสนอแนะให้ใช้มาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ไปก่อนอย่างน้อย 6 เดือน หลังจากนั้นจึงให้ออกเป็นพระราชบัญญัติแทนเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมายประเด็นการบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพ 8 สาขาภายใต้ข้อตกลงประชาคมอาเซียน ประเด็นเตรียมกลไกและระบบรองรับสำหรับการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเสรีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตภายใต้ข้อตกลงองค์การการค้าโลก ประเด็นความเป็นธรรมและสวัสดิการในการจ้างงานให้ชัดเจน" นายอนุสรณ์ กล่าว

สำหรับข้อเสนอทางออก 6 ประการให้รัฐบาลดำเนินการ เพื่อลดผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ได้แก่

1.เสนอให้ใช้มาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ไปก่อนอย่างน้อย 6 เดือน และให้มีศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวและขอใบอนุญาตทำงานตามสำนักงานจัดหางานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ใช่ให้กลับไปที่ชายแดน ส่วนพวกที่เข้าเมืองผิดกฎหมายและต้องพิสูจน์สัญชาติจึงให้ไปขึ้นทะเบียนที่ชายแดน

2.เสนอให้ออกเป็น พ.ร.บ.การปฏิรูประบบการบริหารจัดการและจัดระเบียบแรงงานต่างชาติ พ.ศ.2561 แทน พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย และให้เกิดการบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยคำนึงถึงมิติของแรงงานวิชาชีพชั้นสูงและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ชาวต่างชาติ มิติทางด้านการศึกษาวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มิติด้านสวัสดิการและความเป็นธรรมในการจ้างงาน มิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคง มิติด้านสาธารณสุขและสุขอนามัย มิติด้านการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานทาส มิติด้านโครงสร้างประชากร, สังคมสูงวัยและกระบวนการให้สัญชาติไทย มิติด้านความสมดุลการเปิดเสรีตลาดแรงงานและการปกป้องตลาดแรงงานของคนไทยหรือการสงวนอาชีพ มิติความยั่งยืนทางการเงินของระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มิติผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและภาคการผลิต มิติภาระทางการคลัง เป็นต้น

3.เนื้อหาของ พ.ร.บ.การปฏิรูประบบแรงงานต่างชาติ ควรครอบคลุมถึงการบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพ 8 สาขาภายใต้ข้อตกลงประชาคมอาเซียน เตรียมกลไกและระบบรองรับสำหรับการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเสรีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตภายใต้ข้อตกลงองค์การการค้าโลก ประเด็นผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ประเด็นความเป็นธรรมและสวัสดิการในการจ้างงานให้ชัดเจน

4.รัฐบาลไทยควรทำสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับสิทธิพื้นฐานในการรวมกลุ่ม และ อำนาจในการเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นสิทธิแรงงานพื้นฐานและเป็นสิทธิมนุษยชนอีกด้วย และแรงงานต่างชาติในไทยควรได้รับสิทธินี้เช่นเดียวกันอันเป็นมาตรฐานสากลขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ

5.รัฐควรส่งเสริมให้อุตสาหกรรมและโรงงานที่ใช้แรงงานทักษะต่ำเข้มข้นซึ่งต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก นำเทคโนโลยี Automation และ หุ่นยนต์มาทำงานแทนสำหรับการผลิตแบบซ้ำๆ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์การเคลื่อนย้ายกลับประเทศในอนาคตของแรงงานต่างด้าว

6.รัฐและเอกชนต้องจัดระบบการศึกษาและฝึกอบรมที่จำเป็นสำหรับคนงานต่างด้าวและครอบครัวของแรงงานเพื่อให้ แรงงานรวมทั้งครอบครัว เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในภาคการผลิตและระบบเศรษฐกิจของไทย รวมทั้งเป็นพลเมืองต่างชาติที่มีคุณภาพในสังคมไทย อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยและความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ อย่างน้อยที่สุด ควรให้การศึกษาเรื่องภาษาไทย ความปลอดภัยในการทำงานและกฎหมายพื้นฐานของไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ