ศอ.บต.ชูผลงาน 9 เดือน "9 งานดี-งานเด่น" พร้อมขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาชายแดนใต้ของรัฐบาล

ข่าวการเมือง Thursday July 13, 2017 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แถลงผลงาน "9 งานดี-งานเด่น" ของ ศอ.บต ว่า ศอ.บต. ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศว่าด้วย "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ร่วมกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 20 ปี, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12, นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ, นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนนโยบายและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้เร่งแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนำยุทธศาสตร์ "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" มาใช้ตามแนวทางสันติวิธี ส่งเสริมการพูดคุยสันติสุขกับผู้มีความคิดเห็นต่าง สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่

เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินงานของ ศอ.บต. มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ ภายใต้แนวทาง "เสริมความมั่นคง สร้างความมั่งคั่ง ร่วมพัฒนาสู่ความยั่งยืน" ซึ่ง 9 งานดี-งานเด่น ความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล

โดยด้านการเสริมความมั่นคง ประกอบด้วย งานที่ 1 "บูโด-สุไหงปาดี สันติสุขที่แท้จริงของประชาชน" ที่ได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ออกโฉนดที่ดินให้กับประชาชนพื้นที่โดยรอบ การแก้ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรและการรุกล้ำเขตป่าสงวน แก้ไขปัญหาเขตที่ดินทับซ้อนและแนวเขตพื้นที่ป่าที่ไม่ชัดเจน อันก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น

งานที่ 2 "การพัฒนาอาชีพเพื่อคืนคนดีสู่สังคม เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มที่ผิดพลาด ให้ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพเพื่อการมีงานทำ มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และไม่หวนกลับไปมีพฤติกรรมที่เป็นการละเมิดกฎหมาย

งานที่ 3 "ความร่วมมือแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ" ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกล่อลวงไปทำงานยังต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย

ด้านการสร้างความมั่งคั่ง ประกอบด้วย งานที่ 4 "สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" นำไปสู่ความก้าวหน้า สร้างและพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ประชาชนในพื้นที่มีงานทำ มีรายได้และมีโอกาสการพัฒนาในมิติอื่นๆ และนำไปสู่การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อความมั่นคง

งานที่ 5 "การสร้างนักธุรกิจเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนทั้งระบบ" เป็นการแก้ไขปัญหาการว่างงานในพื้นที่ สนับสนุนการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ เพื่อเปิดพื้นที่เข้าสู่สนามการค้าและการพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ

งานที่ 6 "เกษตรฐานรากหัวใจการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้" ขับเคลื่อนหัวใจสำคัญการทำเกษตรในพื้นที่ มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเกษตรจากพืชเชิงเดี่ยวไปสู่เกษตรผสมผสาน โดยประยุกต์แนวทางตามพระราชดำริ "เกษตรทฤษฎีใหม่"

ส่วนด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย งานที่ 7 "สานพลังลูกเสือสันติสุขเพื่อการฟื้นฟูพหุสังคมที่ดีงามจังหวัดชายแดนภาคใต้" โดยการนำพลังเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และทัศนคติที่ดีของการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

งานที่ 8 "เก้าอี้สุขใจ ร้อยรักสู่ครอบครัว" นโยบายสำคัญของรัฐบาล เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เปิดโอกาสให้ครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้พิการ ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทางด้านร่างกาย ผ่าน"เก้าอี้ สุขใจ" รวมทั้งการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับผู้ปกครองให้มีการทำงานในบ้าน เพื่อให้มีเวลาเพียงพอต่อการดูแลและพัฒนาศักยภาพทางด้านร่างกายอย่างต่อเนื่อง

งานที่ 9 "จากผู้รับในวันนั้น สู่การเป็นผู้ให้ในวันนี้" เป็นการช่วยเหลือด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

"การดำเนินงานทั้ง 9 งาน ของศอ.บต.จะเห็นถึงมิติการทำงานรูปแบบใหม่ที่มุ่งเป้าหมายการทำงานเชิงบูรณาการ โดยเฉพาะการทำงานเพื่อเสริมเป้าหมายความมั่นคง รวมทั้งการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้เกิดผลดีต่อประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยมี ศอ.บต. เป็นแกนกลางเชื่อมโยงการทำงาน และเชื่อมั่นว่าทิศทางการทำงานในวันนี้จะนำไปสู่การสร้างสันติสุขชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว" เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าว

ส่วนกรณีที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการดำเนินงานในหลายโครงการของ ศอ.บต.นั้น นายศุภณัฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนได้ตั้งกรรมการสอบสวนเป็นการภายในแล้ว ซึ่งพบว่าทุกอย่างดำเนินการไปตามขั้นตอน และราคาถูกกว่าท้องตลาดในทุกโครงการ

พร้อมยืนยันว่า ไม่มีการทุจริตและไม่มีการทำผิดระเบียบราชการ แต่ต้องรอผลการสอบสวนจากคณะกรรมการชุดของพล.อ.ประวิตรอีกครั้ง ทั้งนี้ใน 4 โครงการที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบนี้เป็นโครงการที่มีการร้องเรียนว่ามีความไม่โปร่งใส เช่น โครงการติดตั้งไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ซึ่งการใช้งบประมาณเป็นไปอย่างถูกต้อง มีที่มาที่ไป และเป็นโครงการที่ต้องติดตั้งในจุดเสี่ยงต่างๆ

"โครงการนี้ที่มีการจัดซื้อราคาถูกกว่าท้องตลาด แต่ปัญหาที่ตามมาคือ แบตเตอรี่ถูกขโมย ที่ชาวบ้านเห็นว่าไฟฟ้าติดๆ ดับๆ ก็คิดว่าเพราะมีการโกงกันหรือไม่ ก็ได้ให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบังไปตรวจสอบ พบว่าเกิดจากแบตเตอรี่ชาร์จไฟไม่เต็ม หม้อแปลงสกปรก มีขี้นก มีฝุ่น ตอนนี้ให้ผู้ประกอบการไปแก้ไขแล้วก็ติด จากที่ดับไป 6,000 กว่าต้น ตอนนี้ใช้ได้เกือบหมดแล้ว" นายศุภณัฐกล่าว

ทั้งนี้ ศอ.บต.ได้เตรียมข้อมูลและเจ้าหน้าที่เพื่อให้คณะกรรมการฯ ได้ตรวจสอบ โดยมั่นใจว่าจะสามารถชี้แจงได้ทุกโครงการ เพราะมีขั้นตอนทุกอย่าง และขอให้รอผลสอบจากคณะกรรมการฯ ซึ่งคาดว่าภายใน 15 วันจึงจะแล้วเสร็จ

ส่วนความคืบหน้าการพูดคุยเพื่อสันติสุขนั้น นายศุภณัฐ กล่าวว่า ศอ.บต. มีหน้าที่ทำตามคำสั่งของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และเตรียมพื้นที่ให้มีความพร้อมและเอื้อต่อการพูดคุยให้มากที่สุด และต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจว่า ความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งต้องสร้างพลังมวลชนคอยสนับสนุนการพูดคุย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ