สนช.ผ่านร่างกม.ลูกว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังได้ ยันไม่ขัดหลักสากล

ข่าวการเมือง Thursday July 13, 2017 15:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุมฯ มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ด้วยคะแนน 176 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง

"มติที่ประชุมเห็นด้วย 176 ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เป็นอันว่าที่ประชุมฯ เห็บชอบให้ประกาศใช้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นกฎหมายได้" นายพีระศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งมีการแก้ไขและเพิ่มเติมเนื้อหาในหลายประเด็นแตกต่างไปจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอมายัง สนช. แต่ยังคงสาระสำคัญ คือ การตรวจสอบความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีจงใจไม่แสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตลอดจนพฤติกรรมการปิดบังซ่อนเร้นที่มาของทรัพย์สิน

สำหรับการพิจารณาในรายละเอียดนั้น สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ได้อภิปรายสอบถามถึงความชัดเจนในมาตรา 26-27 ว่าด้วยการให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาไต่สวนคดีลับหลังจำเลยว่า การกำหนดไว้เช่นนั้นจะถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นจำเลยหรือไม่ เพราะโดยหลักทั่วไปของการพิจารณาคดีอาญาจะต้องไต่สวนคดีต่อหน้าจำเลย ไม่อาจไต่สวนลับหลังจำเลยได้

นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง สมาชิก สนช.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชี้แจงว่า โดยหลักทั่วไปแล้วการพิจารณาคดีจะต้องกระทำต่อหน้าจำเลยเพื่อให้สิทธิในการสู้คดีแก่จำเลยอย่างเต็มที่ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการดำเนินคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งการจัดตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบการทุจริตเป็นการเฉพาะ โดยการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการกระทำที่แตกต่างจากชาวบ้านทั่วไป เช่น มีการวางแผนก่อนจะกระทำความผิด มีเครือข่ายในการกระทำความผิด มีการตระเตรียมในการกระทำความผิด อันเป็นการทำให้ยากต่อการแสวงหาพยานหลักฐาน

ที่สำคัญเมื่อระบบเดิม คือ การมีตัวจำเลยมาพิจารณาคดี แต่ต่อมาจำเลยหลบคดีหนีระหว่างการพิจารณาของศาล ส่งผลให้กระบวนการพิจารณาคดีต้องหยุด จนทำให้คดีขาดอายุความในการดำเนินคดีอาญา ทำให้ผู้กระทำความผิดที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองต้องหลุดพ้นจากความรับผิดที่ได้กระทำไว้ ดังนั้นหลักการพิจารณาต่อหน้าจำเลยจึงใช้กับคนทั่วไปแต่ใช้ไม่ได้กับผู้มีอิทธิพล

นายภัทรศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาที่มีการกังวลว่าการให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยนั้นเป็นขัดต่อหลักสากลหรือไม่ ขอยืนยันว่าไม่ได้ขัดต่อหลักการดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะกติกาที่ว่าด้วยสิทธิของความเป็นพลเมืองในเรื่องการได้รับการพิจารณาคดีต่อหน้าศาลก็มีข้อยกเว้นอยู่ กล่าวคือ การพิจารณาคดีลับหลังจำเลยสามารถกระทำได้ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐได้พยายามนำตัวจำเลยมาแล้วและออกหมายจับ แต่ไม่ได้ตัวจำเลยมา ถือว่าจำเลยสละสิทธิในการรับการพิจารณาคดีต่อหน้าศาล

"ถึงจะเป็นการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย แต่จำเลยสามารถแต่งตั้งทนายความมาต่อสู้คดีได้ เช่นเดียวกับกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกแล้ว จำเลยก็สามารถขอรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายของประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งศาลสิทธิมนุษยชนก็ให้การยอมรับ" นายภัทรศักดิ์ กล่าว

นายอุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า คดีทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีความสามารถในการหลบหนีเพื่อให้รอดพ้นจากอำนาจของรัฐในการที่จะอยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้กระบวนการยุติธรรมตามระบบเดิมคงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถฟ้องคดีโดยไม่ต้องมีตัวเลย หรือให้ศาลสามารถดำเนินคดีไปได้โดยไม่ต้องมีตัวจำเลยเป็นแนวความคิดที่ต้องการทำให้กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยไม่เป็นการตัดสิทธิของจำเลยที่ไม่ได้อยู่ในศาล เพราะจำเลยยังสามารถตั้งทนายความมาสู้คดีได้

หลังเปิดให้สมาชิก สนช.ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นและรับฟังคำชี้แจงจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แล้ว ที่ประชุมฯ ได้ลงมติในวาระที่ 2 เรียงไปตามมาตราที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบทั้งหมด ต่อจากนั้นที่ประชุมฯ ได้พิจารณาปรับถ้อยคำรวมทั้งฉบับให้ถูกต้องอีกครั้ง ก่อนที่จะลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3

สำหรับกระบวนการต่อจากนี้ สนช.จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 โดยจัดส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาว่าข้อความที่ปรากฎในร่างกฎหมายดังกล่าวตรงตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ