สปท.เห็นชอบรายงาน กมธ.ขึ้นค่าตอบแทนตำรวจให้เหมาะสมกับความเสี่ยงเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ

ข่าวการเมือง Tuesday July 18, 2017 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเสียงข้างมากเห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปท. เรื่อง "การปฏิรูประบบงบประมาณกิจการตำรวจ เพื่อยกระดับความปลอดภัยของประชาชน" โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะส่งเรื่องให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการต่อไป

พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ประธานอนุกรรมาธิการการจัดทำรายงานฯ กล่าวว่า ขณะนี้การทำงานของตำรวจมีปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังพล ยานพาหนะ และเชื้อเพลิงในสถานีตำรวจทั่วประเทศ โดยเรื่องอัตรากำลังพลขาดแคลนอยู่ 43,708 อัตรา จากจำนวนกำลังพลที่มีความจำเป็น 179,239 อัตรา รถยนต์ขาดแคลนอยู่ 18,892 คัน จากจำนวนความจำเป็นที่ต้องมี 24,775 คัน รถจักรยานยนต์ขาดอยู่ 12,626 คัน จากจำนวนความจำเป็นที่ต้องมี 49,658 คัน ซึ่งการขาดแคลนดังกล่าวส่งผลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไม่สามารถจัดวางกำลังในสายงานต่างๆ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่นครบาลที่มีกำลังสายตรวจอยู่เพียง 12,204 คน ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการป้องกันอาชญากรรม

พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนเงินค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวน เนื่องจากการทำสำนวนสอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐานมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก แต่พนักงานสอบสวนต้องสำรองเงินส่วนตัวออกไปก่อน บางคดีไม่สามารถเบิกจ่ายกลับคืนมาได้ ปัจจุบันมียอดค้างการจ่ายค่าตอบแทนการทำสำนวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน สะสมมาตั้งแต่ปี 2556-ปัจจุบันเป็นจำนวนถึง 729 ล้านบาท จึงบั่นทอนประสิทธิภาพและขวัญกำลังใจพนักงานสอบสวนอย่างมาก ขณะเดียวกันยังพบปัญหาเงินเดือนและค่าตอบแทนตำรวจสายปฏิบัติการไม่เหมาะสมกับภารกิจและความรับผิดชอบ และยังมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือบาดเจ็บมากกว่าข้าราชการพลเรือนอื่นๆ

ดังนั้น กมธ.จึงมีข้อเสนอการปฏิรูปตำรวจว่าควรจัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวนในแต่ละปีให้ครบถ้วนตามจำนวนคดีที่เกิดขึ้นจริง ไม่มียอดค้างชำระ ตลอดจนการปรับขึ้นเงินประจำตำแหน่งของพนักงานสอบสวนให้เทียบเท่ากับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่น เช่น ศาล, อัยการ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

นอกจากนี้ ควรปรับค่าตอบแทนตำรวจให้เหมาะกับความเหน็ดเหนื่อยและความเสี่ยงภัย อาทิ การเพิ่มเงินประจำแหน่งสำหรับตำแหน่งที่มีความเสี่ยงภัย การเพิ่มเงินประจำตำแหน่งแก่ตำรวจที่ต้องเหน็ดเหนื่อยตรากตรำตามจำนวนชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้นให้เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานการทำงานของข้าราชการพลเรือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ