ป.ป.ช.เสนอครม.วางมาตรการป้องกันทุจริตเบิกจ่ายยาในระบบราชการ หลังค่าใช่จ่ายเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ข่าวการเมือง Thursday July 20, 2017 16:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 19 (11) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เห็นชอบให้มีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยแบ่งเป็นข้อเสนอแนะในเชิงระบบให้ผลักดันยุทธศาสตร์การใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use : RDU) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์คำนึงถึงเหตุผลทางวิชาการในการตัดสินใจจ่ายยามากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์จากบริษัทยา

เสนอให้มีศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านยา ซึ่งเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลทุกสังกัดและกรมบัญชีกลาง เพื่อตรวจสอบการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และในระหว่างที่ยังไม่มีศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านยาดังกล่าว กรมบัญชีกลางต้องมีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

กำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อยา เพื่อป้องกันการซื้อยาโดยมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน ทั้งนี้ต้องนำเกณฑ์จริยธรรมที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการขายยา และหลักเกณฑ์ตามมาตรา 103/7 และมาตรา 123/5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาเป็นเกณฑ์ในการจัดซื้อ

สำหรับข้อเสนอแนะในเชิงภารกิจ ประกอบด้วย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายดำเนินการอย่างเข้มงวด, ผลักดันให้มีการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการขายยา, ปลุกจิตสำนึกของบุคลากรของรัฐ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังพฤติกรรมการส่งเสริมการขายยา การสั่งจ่ายยา และการใช้สิทธิอย่างไม่เหมาะสม และ ผลักดันให้มีการจัดทำมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม ตามมาตรา 123/5 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ภาคเอกชนมีมาตรการป้องกันไม่ให้บุคลากรของตนเสนอประโยชน์ให้แก่บุคลากรของรัฐ

เนื่องจากปัญหาค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 20,476 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2545 เป็น 46,481 ล้านบาท ในปี 50 และยังคงมีอัตราค่าใช้จ่ายที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 71,016 ล้านบาท ในปี 59 โดยสาเหตุที่ค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการของข้าราชการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจากหลายปัจจัยและมีกระบวนการเกี่ยวข้องโยงใยเครือข่ายการทุจริต 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มผู้ใช้สิทธิและเครือญาติ กลุ่มสถานพยาบาลและบุคลากรในสถานพยาบาล และกลุ่มบริษัทจำหน่ายยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ