ผู้ตรวจการฯ ไม่ส่งศาลรธน.ตีความกม.คดีอาญานักการเมือง เหตุผู้ร้องไม่ใช่ผู้เดือดร้อน

ข่าวการเมือง Thursday August 24, 2017 14:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีคำวินิจฉัยให้ยุติเรื่องร้องเรียนของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตส.ส.ส.และคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ที่ขอให้พิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่า มาตรา 13 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หรือไม่ เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ร้องเรียนต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากกฎหมายฉบับดังกล่าว

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า สืบเนื่องจากนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่า มาตรา 13 วรรคสาม แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หรือไม่นั้น

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและวินิจฉัยร่วมกันแล้วเห็นว่า มาตรา 231 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า "มาตรา 231 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 230 ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้เมื่อเห็นว่ามีกรณีดังต่อไปนี้

(1) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ..."

ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจะใช้ดุลยพินิจเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยถึงปัญหาดังกล่าวได้ จะต้องมีการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 230 เสียก่อน หมายความว่า ประชาชนหรือผู้ร้องเรียนจะต้องได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมจากเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 230 และผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นเช่นนั้นมาก่อนแล้ว หากผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นต่อไปว่า ความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมนั้นเกิดจากบทบัญญัติของกฎหมายที่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงจะมีหน้าที่และอำนาจเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไปได้ แต่เมื่อพิเคราะห์คำร้องเรียนของผู้ร้องเรียนแล้ว ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 230 มาก่อน จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขหรือขั้นตอนของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่จะให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 231 ได้

นายรักษเกชา กล่าวว่า สำหรับประเด็นการตรา พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 พ.ศ.2550 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เหตุเพราะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเข้าประชุมไม่ครบองค์ประชุม เมื่อคราวประชุมวันที่ 6 มิ.ย.50 ในวาระที่ 3 ขั้นลงมตินั้น เห็นว่าเป็นการขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการตรากฎหมาย อันเป็นการตรวจสอบก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน เหมือนกรณีคำวินิจฉัยเดิมของผู้ตรวจการแผ่นดินที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เคยร้องเรียนเกี่ยวกับกระบวนการตรา พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และ พ.ศ.2550 ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

นอกจากนี้การขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องตามคำร้องเรียนไปให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้ดำเนินการส่งต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญอีกทางหนึ่งด้วยนั้น เห็นว่าไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นที่ให้เป็นหน้าที่หรืออำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะกระทำได้

"ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยุติเรื่องร้องเรียน" นายรักษเกชา กล่าว

นายรักษเกชายังตอบข้อซักถามสื่อมวลชนหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณากรณีเดียวกันนี้ได้หรือไม่ ว่า หากมีการยื่นเรื่องมา ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ต้องพิจารณาว่าเป็นไปตามบทบัญญัติที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่เช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ