สนช.รับหลักการร่างกม. ตั้งซูเปอร์บอร์ดกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ/คสรท. ยื่นหนังสือค้านหลังหลายมาตราขัดหลักสากล

ข่าวการเมือง Friday September 1, 2017 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 169 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 6 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 29 คน มาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 5 คน สนช. 24 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติภายใน 15 วัน และระยะเวลาการดำเนินงาน 60 วัน

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ การกำหนดวัตถุประสงค์ในการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจจำนวน 4 ข้อ ได้แก่ 1.ให้มีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่กำหนดเป้าหมาย นโยบายและทิศทางในการพัฒนารัฐวิสาหกิจในภาพรวมทั้งระบบให้เป็นไปตามโดยสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ 2.ส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจดำเนินกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการประเมินผลการดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง 3.ให้มีกลไกสนับสนุนให้การคัดเลือกและการปฏิบัติงานของกรรมการรัฐวิสาหกิจเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ และ 4.ให้มีบรรษัทเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการบริหารรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจดังกล่าว

โดยโครงสร้างของ คนร.ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน, รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายหนึ่งคนทำหน้าที่รองประธาน ส่วนกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รมว.คลัง, รัฐมนตรีอื่นที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งจำนวน 2 คน, ปลัดกระทรวงการคลัง, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ผู้อำนวยสำนักงบประมาณ, ประธานกรรมการบรรษัทฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ ครม.แต่งตั้งอีกจำนวน 5 คน

สำหรับอำนาจและหน้าที่ของ คนร.นั้นมี 15 ด้าน ได้แก่ จัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจเพื่อเสนอต่อ ครม., กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังหรือบรรษัทในรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดโดยความเห็นชอบของ ครม., เสนอความเห็นต่อ ครม.ในการควบหรือยุบเลิกรัฐวิสาหกิจและการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนให้หุ้นที่บรรษัทถือครองจนพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจหรือทำให้เป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

สำหรับการอภิปรายของสมาชิก สนช.นั้นส่วนใหญ่มีความกังวลว่า ในอนาคตฝ่ายการเมืองอาจใช้ช่องทางในการแต่งตั้ง คนร.ในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเข้าไปแทรกแซงกิจการของรัฐวิสาหกิจ จึงอยากให้มีการพิจารณาเพื่อหาทางป้องกันปัญหาในอนาคต

ด้านนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวว่า การจัดทำนโยบายของรัฐวิสาหกิจในอนาคตจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การขับเคลื่อนของรัฐวิสาหกิจเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนข้อห่วงใยเกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการ คนร.ในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒินั้น ในร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเอาไว้ชัดเจน ซึ่งทำให้ ครม.ไม่สามารถแต่งตั้งใครมาเป็นดำรงตำแหน่งก็ได้

ทั้งนี้ ในระหว่างที่ สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมคณะ ได้ยื่นหนังสือถึงประธาน สนช.เพื่อขอให้ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากมีเนื้อหาขัดกับหลักการสากลหลายประการ และไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในหลักการและเหตุผล อาทิ ขัดหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ขัดกับอนุสัญญาสำคัญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization:ILO) ซึ่งได้กำหนดให้ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกต้องปฏิบัติตาม รวมทั้งเป็นการละเมิดสิทธิของลูกจ้างหรือพนักงานของบรรษัทวิสาหกิจที่กำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐแต่ไม่เป็นราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้ลูกจ้างพนักงานของบรรษัทไม่สามารถใช้สิทธิรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานได้ ดังนั้น สรส. จึงขอให้ สนช.พิจารณายับยั้งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไว้ก่อน และส่งคืนให้รัฐบาลดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างรอบด้านตาม มาตรา 77 และมาตรา 78 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ