นายกฯ แนะฟังประชาพิจารณ์เพื่อพัฒนาพื้นที่สร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ก่อนตั้งท่าค้าน

ข่าวการเมือง Friday September 29, 2017 13:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดการใช้งานสถานีเคเบิ้ลใต้น้ำ ที่จังหวัดสตูล ว่าเป็นครั้งแรกที่มาจังหวัดสตูล พร้อมแสดงความห่วงใยปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ ซึ่งประชาชนได้รับความเดือดร้อน และรัฐบาลก็ต้องหางบประมาณมาช่วยเหลือ หลายแสนล้านบาท ทั้งที่งบประมาณในด้านนี้ ควรที่จะส่งเสริมในเรื่องเน็ตประชารัฐ สร้างรายได้ในพื้นที่มากกว่า ดังนั้น ทุกคนจะต้องมาร่วมมือกันเริ่มที่ตนเอง ในการเตรียมการป้องกันอุทกภัย มีแผนรองรับ สิ่งสำคัญคือ การพูดคุย และทำประชาพิจารณ์ให้ประชาชนเข้าใจว่าจะต้องมีพื้นที่ในการรับน้ำ เพื่อให้ไหลลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว หากทำได้จะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความปรองดองได้

นายกรัฐมนตรี ขอให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการภาครัฐ ให้ปฎิบัติตามการทำประชาพิจารณ์ที่ส่วนใหญ่ยอมรับโครงการต่าง ๆ เพื่อจะได้นำงบมาพัฒนาพื้นที่ ไม่ใช่ออกมาแต่คัดค้านและเชื่อแต่บุคคลที่บิดเบือนข้อมูล จนไม่สามารถดำเนินโครงการใดๆได้ ดังนั้นทุกคนต้องบริหารจัดการตัวเองว่าจะตัดสินพัฒนาพื้นที่อย่างไร เช่น การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังระบุว่า ส่วนตัวยอมรับในระบบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดี แม้ตนเองจะเข้ามาบริหารประเทศในรูปแบบนี้ก็ตาม แต่ประชาธิปไตยจะต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ดูแลเสียงส่วนน้อยอย่างทั่วถึง ที่สำคัญประชาธิปไตยที่ดี คือการสร้างหลักคิดที่ถูกต้อง ต้องปฎิบัติตามกฎหมายและกติกา ที่ผ่านมาตนเองไม่เคยบังคับใคร เพราะกฎหมาย มีกำหนดไว้ให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งรัฐบาลนี้นำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตัดสินลงโทษ ตามหลักฐานที่มี อีกทั้งไม่เคยไปสั่งการหรือชี้นำ เพียงนำเข้าสู่กระบวนการให้ถูกต้องเท่านั้น รวมถึงการใช้มาตรา 44 ที่ลงโทษเอาผิดข้าราชการ ก็ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมหารือ ก่อนส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเปิดสถานีเคเบิ้ลใต้น้ำปากบารา อย่างเป็นทางการ ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นโครงการระบบเคเบิ้ลใต้น้ำ Asia-Africa-Europe 1 (AAE-1) รวมระยะทาง 25,000 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป เสมือนเป็น land bridge ทางด้านโทรคมนาคมระหว่างประเทศที่ช่วยลดระยะทางการเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างเอเชียและยุโรป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ