นายกฯ ยันหนทางแก้ปัญหารายได้ครัวเรือนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

ข่าวการเมือง Monday December 11, 2017 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ส่งจดหมายเปิดผนึกเรื่องรายได้ต่อครัวเรือนประชาชนในภาคใต้ลดลงผ่านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มาถึงตนเอง ว่า รัฐบาลขอขอบคุณในข้อแนะนำและความห่วงใยที่มีต่อพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ กรณีที่รายได้ต่อครัวเรือนในภาคเหนือและภาคใต้โดยรวมลดลง โดยเฉพาะจังหวัดระนอง ตรัง และยะลานั้นต้องไปดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ซึ่งจากการลงพื้นที่เพื่อพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนในหลายโอกาสเห็นว่าจังหวัดเหล่านั้นยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การประกอบอาชีพที่ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ทำการเกษตรแบบดั้งเดิม เช่น ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้มีผู้คนอีกไม่น้อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูสภาพเศรษฐกิจของประเทศในช่วงก่อนปี 2557 จะพบว่า บ้านเมืองประสบปัญหาอย่างหนัก เพราะปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จนรัฐบาลหลายยุคไม่สามารถขับเคลื่อนงานสำคัญที่จะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่เมื่อรัฐบาลนี้ได้เข้ามาบริหารประเทศได้ทำงานอย่างหนักจนทำให้เวลานี้เศรษฐกิจโดยรวมเริ่มดีขึ้น โดยมีตัวเลขทางเศรษฐกิจจากสำนักต่างๆ ยืนยันอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม หนทางที่จะทำให้รายได้ระดับครัวเรือนของประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยเพิ่มสูงขึ้นนั้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง และไม่ใช่เรื่องง่าย เชื่อว่าทุกรัฐบาลย่อมทราบดี แต่หลายเรื่องที่นายชวนฯ ได้กรุณาให้คำแนะนำ รัฐบาลนี้ได้ลงมือทำแล้ว ทั้งการดึงอัตลักษณ์ของชุมชนมาส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือสนับสนุนให้เกษตรกรทำอาชีพเสริมนอกจากการปลูกพืชแบบเดิม ๆ และมีหลายเรื่องที่กำลังดำเนินการอยู่ เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตรโดยใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับราคาสินค้าให้สูงขึ้น การรวมกลุ่มเกษตรกร สนับสนุนการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนรวมไปถึงบริษัทประชารัฐ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน แต่ทุกอย่างจะไม่เกิดความสำเร็จได้เลยถ้าทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกัน หรือรอแต่ความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ติดตามข้อมูลรายละเอียดสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งประเทศอยู่เสมอผ่านคณะกรรมการหลายชุด และไม่เคยมองข้ามเรื่องนี้ จึงได้พยายามปรับรูปแบบ วิธีการทำงาน และการจัดสรรงบประมาณ/โครงการ ที่มุ่งไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ให้แก่ประชาชน เช่น กำหนดให้มีแผนบูรณาการบริหาร และงบประมาณแบบใหม่มี 6 ภาค (เหนือ-กลาง-อีสาน-ใต้-จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีอีซี) มีกลุ่มจังหวัด และจังหวัด โดยแต่ละกลุ่มจังหวัดจะมีจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่ม เพื่อให้การพัฒนาทุกด้านสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่มากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ