นายกฯ ย้ำยังไม่มีการพิจารณาปลดล็อคทางการเมืองจนกว่า กม.ลูกแล้วเสร็จ

ข่าวการเมือง Tuesday December 12, 2017 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่วันนี้หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการดำเนินการของพรรคการเมือง ทั้งในการคัดเลือกกรรมการบริหารพรรค และการสำรวจสมาชิกพรรค รวมถึงการจดจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ตามกรอบเวลาของกฎหมายลูกว่า รัฐบาลจะดูแลให้พรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่าหรือพรรคใหม่ และพรรคใหญ่หรือพรรคเล็ก ให้ได้รับ ความเท่าเทียม ไม่เสียเปรียบซึ่งกันและกัน

สำหรับเรื่องการปลดล็อคนั้น เมื่อกฎหมายลูกแล้วเสร็จ และปัจจัยทุกอย่างเรียบร้อย ก็จะปลดล็อคให้ดำเนินกิจกรรมได้ จึงขอให้ทุกฝ่ายอย่ากังวล

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงขั้นตอนของการพิจารณาการออกกฎหมายลูกว่า เป็นการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยที่รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปสั่งการหรือเร่งรัดใดๆได้ตามที่มีบางฝ่ายพยายามพูดว่า รัฐบาลหรือ คสช. สามารถสั่งให้ สนช.สามารถพิจารณากฎหมาย เพราะรัฐบาลทำได้เพียงนำกฎหมายเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สนช.เนื่องจากสมาชิก สนช.ไม่ได้มาจากทหารทั้งหมด แต่มาจากทุกภาคส่วน ซึ่งจะต้องมีการถกเถียงและชี้แจงข้อมูลในการพิจารณากฎหมายแต่ละฉบับ

“ผมเห็นพูดกันมานานแล้วเรื่องปลดล็อค ผมบอกแล้วว่า เมื่อกฏหมายเรียบร้อยแล้วจะปลดล็อคให้อยู่ดี ก็จะปลดล็อคเป็นขั้นๆไป บอกกันวันนี้ซะเลย ทุกพรรคการเมืองมีความจำเป็นแตกต่างกันออกไป ทั้งพรรคเล็กพรรคใหญ่ พรรคใหม่พรรคเก่า ก็ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย การที่จะมาอ้างพรรคเก่าใช้เวลามากกว่า ไม่ลองคิดถึงพรรคเล็กบ้าง ไม่ได้หมายความว่า พรรคของผมอย่างที่มีการกล่าวอ้าง ยังไม่มีทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเมื่อท่านเป็นพรรคเก่าไม่ มีสมาชิกเก่าเยอะอยู่แล้ว ไม่เห็นต้องกังวลอะไรเลย ท่านเช็ดแป๊ปเดียวก็ออกมาอยู่แล้ว สิ่งสำคัญต้องเตรียมการในเรื่องสมัครพรรคการเมือง ต้องมีการบริจาคเงิน ก็คงจะปลดล็อคให้ทำได้ต่อไปในอนาคต"

ส่วนการเรียกร้องให้ใช้มาตรา 44 ดำเนินการนั้น นายกรัฐมนตรี เห็นว่า เรื่องของการเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องคอขาดบาดตายของประเทศ คงต้องใช้กระบวนการของกฎหมายปกติดำเนินการ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) มีมติฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการเมืองกับประเทศไทยว่า เป็นเรื่องที่ดีกับประเทศไทยและเป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะสื่อสารมาโดยตลอดกับทุกประเทศ โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรปที่ถือเป็นตลาดสำคัญ และมีการค้าการลงทุนกับไทยในระดับสูง โดยรัฐบาลได้พยายามทำความเข้าใจทั้งในเรื่องของแผนการทำงาน และการวางยุทธศาสตร์ชาติ

"ท่าทีของอียูในครั้งนี้ ไม่ใช่การตั้งเงื่อนไขกับประเทศไทย แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึง สิ่งที่อียูมีความเข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลตั้งใจขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งวันนี้ไทยก็กำลังเดินตามโรดแมพที่จะไปสู่การเลือกตั้ง ที่ได้ประกาศไว้ ประมาณช่วงเดือน พ.ย.61 แต่เรื่องของระยะเวลานั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณากฎหมายลูกว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเวลาใด และวันนี้รัฐบาลยังต้อคำนึงถึงสถานการณ์ความปลอดภัยของประเทศด้วย และเชื่อว่าหลายประเทศมีความเข้าใจสิ่งที่รับบาลกำลังดำเนินการอยู่ แต่กลับเป็นบางกลุ่มในประเทศที่ไม่เข้าใจและมีการบิดเบือนข้อมูลต่างๆ ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันทำความเข้าใจในเรื่องนี้" นายกรัฐมนตรี ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ