(เพิ่มเติม) สนช. ยื่น 32 รายชื่อเสนอประธานฯ ส่งร่างกม.ป.ป.ช.ให้ศาลรธน.ตีความ

ข่าวการเมือง Thursday January 18, 2018 14:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ได้นำรายชื่อสมาชิก สนช.จำนวน 32 คน ยื่นต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. แล้ว เพื่อขอให้ส่งร่างร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา 178 ในการยกเว้นการลักษณะต้องห้ามแก่กับกรรมการ ป.ป.ช.นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน และไม่ให้การทำงานของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในอนาคตเกิดปัญหา โดยไม่ขอเปิดเผยรายชื่อ สนช.ที่เข้าชื่อกัน และขอเป็นดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัย

รายงานข่าวจากรัฐสภา แจ้งว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีหนังสือแจ้งถึง สนช.ว่าไม่มีข้อความหรือบทบัญญัติใดขัดแย้ง หรือไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่ กรธ.ยังกังวลว่า บทบัญญัติในมาตรา 178 ที่เกี่ยวข้องกับวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ ป.ป.ช. ที่ สนช.มีมติเสียงข้างมากแก้ไขให้งดเว้นการใช้ลักษณะต้องห้ามแก่กรรมการ ป.ป.ช.เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ไม่ครอบคลุมถึงการยกเว้นการใช้ลักษณะต้องห้าม ซึ่งการวินิจฉัยเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ กรธ.จึงไม่โต้แย้ง โดยเป็นดุลยพินิจของ สนช.ที่จะพิจารณาดำเนินการต่อไป สนช.จึงจะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา 81 ของรัฐธรรมนูญต่อไป

นายพรเพชร เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทำคำร้องเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญภายในเย็นวันนี้ (18 ม.ค.) แล้ว หรือไม่เกินภายในวันพรุ่ง (19 ม.ค.) นี้ และจะชะลอการส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย โดยคาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หรือขึ้นกับดุลยพินิจของศาลในการพิจารณา

ประธาน สนช.ปฏิเสธยังไม่เห็นรายละเอียดกรณีที่มีกระแสข่าวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะบัญญัติในบทเฉพาะกาลให้กฏหมายมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคทหารที่จะมีการตั้งขึ้นใหม่นั้น แต่เห็นว่าโดยหลักการแล้วการกำหนดการมีผลบังคับใช้สามารถทำได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ