(เพิ่มเติม) สนช.เคาะเลือกที่มา ส.ว.จาก 10 กลุ่มอาชีพ-ตัดกลุ่มการเมืองทิ้ง

ข่าวการเมือง Friday January 26, 2018 14:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติเห็นชอบตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากให้แบ่งกลุ่ม ส.ว. ออกเป็น 10 กลุ่ม จากเดิมเสนอไว้ 15 กลุ่ม ในมาตรา 11 ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) พ.ศ. .... ด้วยคะแนน 166 ต่อ 35 เสียง งดออกเสียง 5 โดยใช้เวลาในการพิจารณากว่า 4 ชั่วโมง

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างมาก กล่าวว่า การที่กรรมาธิการลดเหลือ 15 กลุ่มอาชีพ เพราะกลุ่มที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แบ่งมาบางกลุ่มมีความชำนาญซ้ำซ้อนกัน และเมื่อฟังการอภิปรายกรรมาธิการเสียงข้างมากยอมปรับลงเหลือ 10 กลุ่ม แต่ขอปรับในรายละเอียดเช่นไม่เห็นด้วยให้มีกลุ่มการเมืองรวมอยู่ด้วย

ขณะที่นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย กล่าวว่า เห็นควรให้มีกำหนด 20 กลุ่มอาชีพ เพื่อให้มีอาชีพหลากหลาย เพราะเกรงว่าหากลดกลุ่มอาชีพลงจะมีการบล็อกโหวตและสมยอมกันได้มากกว่า

สำหรับที่มา ส.ว.จาก 10 กลุ่มอาชีพ ประกอบด้วย 1.การบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ได้แก่ ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 2.กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 3.การศึกษา และการสาธารณสุข ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานการศึกษา บุคคลากรทางการศึกษา ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

4.อาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 5.พนักงาน ลูกจ้าง ซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 6.ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

7.ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม และผู้ประกอบกิจการอื่นๆ ผู้ประกอบธุรกิจ หรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม หรืออื่นๆในทำนองเดียวกัน 8.สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์ 9.ศิลปวัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างวรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน และ 10.กลุ่มอื่นๆ

หลังจากนั้นที่ประชุมฯ ได้พิจารณามาตรา 15 เรื่องผู้ประสงค์สมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยนายสมชาย แสวงการ และ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร สนช.แปรญัตติให้มีผู้สมัครวุฒิสภา 2 ประเภท คือ ผู้สมัครแบบอิสระ และผู้สมัครซึ่งเป็นตัวแทนองค์กร แต่มีความเห็นหลากหลายทั้งเรื่องตัวแทนองค์กรและค่าสมัคร จึงมีการเสนอให้ลงมติในมาตรานี้ทันทีเพื่อให้ได้ข้อสรุป แต่นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานกรรมาธิการฯ เห็นว่า มาตรา 15 ยังมีผลผูกพันกับมาตราอื่นๆ อีก เกรงว่าจะเกิดปัญหา ที่สุดแล้วนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.ได้สั่งพักการประชุม 30 นาที เมื่อเวลา 14.00 น.เพื่อให้ไปหารือนอกรอบให้ได้ข้อยุติก่อนนำผลมาพิจารณาในที่ประชุมฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ