ประธาน กรธ. รับกม.ส.ว.ไม่ถูกตีตกทั้งฉบับหากขัดแค่บทเฉพาะกาล โยนสนช.รับผิดชอบ

ข่าวการเมือง Tuesday March 20, 2018 16:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า กรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไปตีความว่า ยังคงอยู่ในโรดแมพการเลือกตั้ง เพราะหากศาลตีความว่าประเด็นนั้นขัดรัฐธรรมนูญ และข้อความนั้นไม่ใช่สาระสำคัญก็จะตัดเฉพาะข้อความนั้นออก แต่กฎหมายทั้งฉบับก็ยังใช้ได้ โดยนายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่หากตัดข้อความดังกล่าวออกไปแล้วในทางปฏิบัติไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะเข้าสู่กระบวนการการแก้ไขร่างกฎหมายต่อไป ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ศาลก็จะชี้ว่าประเด็นดังกล่าว เป็นสาระสำคัญหรือไม่ ซึ่งหากเป็นสาระสำคัญจะทำให้ร่างกฎหมายฉบับนั้นตกไปทั้งฉบับ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็จะต้องนำกลับมายกร่างใหม่ กรธ.ก็จะทราบว่าประเด็นใดเป็นปัญหาก็ตัดส่วนนั้นออก และเข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอน ทั้งนี้จะเป็นสาระสำคัญหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า หากไม่มีส่วนนี้แล้ว กฎหมายนั้นจะยังสามารถบังคับใช้ได้หรือไม่ เช่น หากไม่มีบทเฉพาะกาลแล้ว บทหลักยังใช้ได้ ก็จะยังสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ต่อไป

"กรธ.ไม่ได้บอกให้ สนช.ยื่นตีความ เพียงแต่ส่งข้อห่วงใยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงถือเป็นอำนาจของ สนช.ที่จะตัดสินใจ และหากในอนาคตเกิดปัญหาขึ้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องรับผิดชอบ"

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นั้น นายมีชัย กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นผลให้การเลือกตั้งในอนาคตต้องเสียไปทั้งหมด เพราะเรื่องการตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากศาลชี้ว่าไม่ขัดผู้นั้นก็ได้สิทธิคืน หรือเรื่องกลไกการช่วยเหลือผู้พิการลงคะแนน คิดว่าน่าจะมีเพียงบางหน่วยเท่านั้น และผู้พิการส่วนใหญ่ก็สามารถลงคะแนนเองได้ ดังนั้นหากหน่วยใดที่มีผู้ลงคะแนนแทน และมีคนฟ้อง ก็น่าจะทำให้การลงคะแนนในหน่วยนั้นเสียไป เว้นแต่เป็นผลคะแนนที่ไม่มาก และไม่ทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนก็จะไม่มีผลกระทบใด ๆ ยกเว้นจะมีผู้มาลงคะแนนแทนผู้พิการแทนจำนวนมาก ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้น

นายมีชัย ยังกล่าวถึงกรณีมีกลุ่มการเมืองยื่นขอจดจัดตั้งพรรคการเมืองโดยใช้ชื่อว่า "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย" นั้นขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้ก่อตั้งพรรคว่าเป็นอย่างไร หากนำชื่อพรรคมาใช้โดยอธิบายให้นายทะเบียนทราบได้ว่ามีเจตนาเป็นอย่างอื่น ก็ขึ้นอยู่กับนายทะเบียนที่จะวินิจฉัย แต่ถ้าไม่อธิบายเป็นอย่างอื่นก็จะถูกเข้าใจว่าเป็นแบบนี้ ซึ่งการตั้งชื่อพรรคเช่นนี้ โดยที่ไม่มีการกระทำใดที่ส่อเจตนาว่า ปฏิปักษ์กับการปกครองก็ไม่ถือเป็นความผิด เพราะพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่หากเป็นในอดีตก็ถือว่าผิดกฎหมายไปแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ