สมช.เตรียมเสนอครม.เห็นชอบการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอัตตลักษณ์บุคคล แก้ปัญหาอาชญากรรมและแรงงาน

ข่าวการเมือง Wednesday May 2, 2018 13:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบูรณาการฐานข้อมูลด้านความมั่นคง โดยที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบร่างคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการบริหารข้อมูลอัตตลักษณ์บุคคลแห่งชาติ ตามที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาแนวทางจัดตั้งฐานข้อมูลอัตตลักษณ์บุคคลแห่งชาติเสนอ รวมทั้งแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานกลาง พร้อมมอบให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นำร่างคำสั่งดังกล่าวเสนอ ครม.รับทราบ เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาลงนาม เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ซึ่งผลการประชุมดังกล่าวสืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้รวมศูนย์การทำงานด้านข้อมูลอัตตลักษณ์บุคคล เช่น การจัดเก็บลายนิ้วมือ DNA ใบหน้า ม่านตา เพื่อใช้ในการติดตามตัว และแก้ปัญหาคดีอาชญากรรม และแรงงาน โดยเป็นข้อมูลกลางที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถนำไปใช้ เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ที่ประชุมฯ ยังได้รับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ 3 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการจัดทำฐานข้อมูลด้านความมั่นคงในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการจัดทำฐานข้อมูลด้านความมั่นคง และ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาแนวทางการจัดตั้งฐานข้อมูลอัตตลักษณ์บุคคลแห่งชาติ

ด้าน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการในที่ประชุมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลทั้งหมดส่งให้กับหน่วยงานกลางของ สมช.ได้จัดเก็บ โดยคาดจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 ปี พร้อมทั้งได้กำชับให้หน่วยงานกลางในการจัดเก็บข้อมูลและจังหวัดชายแดนภาคใต้ สนับสนุนข้อมูลให้กับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้านำไปใช้

นอกจากนี้หากต้องการข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ก็ให้รีบดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงในการใช้ฐานข้อมูลร่วมกัน ซึ่งการจัดทำฐานข้อมูลทั้งหมดเพื่อช่วยลดความซ้ำซ้อน ในเรื่องของการพิสูจน์อัตตลักษณ์บุคคล เนื่องจากจะดำเนินการตรวจสอบเพียงครั้งเดียว และการดำเนินธุรกรรมต่างๆหลังจากนี้จะเกิดความสะดวกรวดเร็วกับประชาชนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหางานด้านความมั่นคงที่จะครอบคลุม ทั้งการปลอมแปลงบัตร การทำธุรกรรมต่างๆ ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและตามแนวชายแดน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ