"อภิสิทธิ์"ผิดหวังนโยบายสืบทอดทายาท ไม่จัดการศึกษาเป็นแผนเร่งด่วน

ข่าวการเมือง Monday February 18, 2008 12:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ให้ความเห็นต่อนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาว่า ค่อนข้างจะชัดเจนว่าแนวนโยบายเร่งด่วนหลายด้านของรัฐบาลชุดนี้เป็นการสานต่อนโยบายของรัฐบาลในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน ธนาคารประชาชน ซึ่งเท่ากับเป็นความตั้งใจให้เห็นชัดเจนว่าว่ารัฐบาลชุดนี้ต้องการจะแสดงให้เห็นว่าจะสืบทอดทายาทของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ
"ในนโยบายเร่งด่วน เป็นที่ชัดเจนว่าพรรคแกนนำ(รัฐบาล)ยืนยันว่าทิศทางบางส่วนของรัฐบาลนี้ คือการเป็นทายาทของรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ โครงการต่างๆ ไม่ว่าเป็นกองทุนหมู่บ้าน SML ธนาคารประชาชน หรือเรื่องอื่นๆ คงต้องการแสดงให้ชัดว่ารัฐบาลนี้เป็นทายาทของรัฐบาลทักษิณจริงๆ" นายอภิสิทธิ์ กล่าวในการอภิปรายนโยบายรัฐบาล
พร้อมระบุว่า หัวใจสำคัญของฝ่ายค้านในการติดตามตรวจสอบและประเมินผลนโยบายรัฐบาล คือนโยบายทั้งหมดที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภาในวันนี้เป็นการทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงหรือทำเพื่อพวกพ้องของตนเอง
"ถ้าการให้ความสำคัญของนโยบายรัฐบาลเป็นอย่างนี้ จุดที่จะเป็นบททดสอบความสำเร็จหรือความล้มเหลวของรัฐบาลชุดนี้อยู่ที่ว่าทำเพื่อใคร เพื่อประชาชนหรือเพื่อพวกพ้อง ตรงนี้จะเป็นหัวใจสำคัญในการติดตามตรวจสอบประเมินนโยบายของเราในฐานะฝ่ายค้าน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ ยังแสดงความผิดหวังต่อการจัดทำนโยบายของรัฐบาลที่ไม่มีการบรรจุเรื่องการศึกษาไว้ในส่วนของนโยบายเร่งด่วน ทั้งที่นโยบายด้านการศึกษาถือได้ว่าจะเป็นรากฐานที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองมากที่สุด แต่ยังเชื่อมั่นว่าหากรัฐบาลจะดำเนินการในนโยบายดังกล่าวทันทีก็สามารถเริ่มได้จริงตั้งแต่ปีการศึกษาใหม่นี้(พ.ค.51) ด้วยการเพิ่มงบประมาณกลางปี 51 ซึ่งฝ่ายค้านจะยกมือสนับสนุนเต็มที่
"ผมผิดหวัง เพราะถือว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และทำประโยชน์ให้กับอนาคตของประเทศชาติบ้านเมืองมากที่สุด ผมเข้าใจว่านโยบายด้านการศึกษาไม่ได้เห็นผลในระยะสั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่เร่งด่วน...ยิ่งเริ่มช้าเท่าไร ผลของนโยบายการศึกษาที่ดีก็ยิ่งช้าไปเท่านั้น สังคมก็จะมีความอ่อนแอ และขาดความเข้มแข็ง" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
นอกจากนี้ยังต้องการให้รัฐบาลออกมาให้ความชัดเจนถึงการเรียนฟรี 12 ปี ว่าจะมีระยะเวลาอยู่ในช่วงการศึกษาระดับใดระหว่างประถมศึกษา-มัธยมศึกษาตอนปลาย หรืออนุบาล-มัธยมศึกษาตอนต้น และถ้าเป็นไปได้ควรเพิ่มระยะเวลาเรียนฟรีเป็น 14-15 ปี เพื่อให้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาตอนปลาย
"ไม่ใช่แค่ 12 ปี แต่ควรเป็นอย่างน้อย 12 ปี เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อยู่แล้ว ถ้าท่านทำแค่จบแค่ม.ต้น จะเป็นอันตรายต่อการศึกษาในอนาคต เพราะหมายความว่า ม.ปลายไม่ฟรี ม.ปลายเป็นจุดล่อแหลมสุด เสี่ยงที่สุดต่อแรงกดดันทางเศรษฐกิจและครอบครัวที่จะให้ออกหางานทำแล้วต้องออกจากโรงเรียน เพราะถ้าไม่ได้เรียนฟรี ยังเป็นการเพิ่มภาระให้ครอบครัวอีก" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ