ก.ล.ต.แนะ ป.ป.ช.ช่วยกำหนดรายละเอียดแนบท้าย Blind Trust ให้ชัดเจน

ข่าวการเมือง Thursday January 15, 2009 18:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสงค์ วินัยแพทย์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)กล่าวในงานสัมนา " ลงทุนเปิดเผย การเมืองโปร่งใส ผ่านกลไก Blind Trust "ว่า ก.ล.ต. พร้อมจะเข้ามาเป็นผู้ประสานงานร่วมรับผิดชอบในการดูแลไม่ให้นักการเมืองใช้อำนาจในการครอบงำ บลจ.ที่ทำหน้าที่ในการบริหารสินทรัพย์หรือดูแลการถือหุ้นของนักการเมือง

แต่ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ควรกำหนดรายละเอียดแนบท้ายสัญญาที่ทำร่วมกันระหว่างบลจ.กับนักการเมืองให้มีความชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต กรณีหากมีการร้องเรียนการลงทุนของนักการเมือง เช่น กรณีผลประโยชน์ทับซ้อน

"ก.ล.ต. เราพร้อมที่จะรับประสานงานให้เพราะบลจ.อยู่ภายใต้การดูแลของเรา เพียงแต่ว่าจะต้องกำหนดกรอบให้เป็นมาตราฐานเดียวกันเพื่อจะได้ไม่มีปัญหา และสบายใจในการรับรู้ความต้องการของรัฐมนตรีแค่ไหน ระดับไหนปปช.รับได้ซึ่งหากคุยกันก็จะง่ายต่อบลจ.ที่เข้าไปรับงานด้วย เช่นอย่างหุ้นที่มอบหมายให้บลจ.บริหารจะทำอย่างไร หรือกำหนดกรอบหรือมีเงื่อนไขอย่างไร " นายประสงค์กล่าว

ทั้งนี้ Blind Trust คือการโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนให้บลจ.บริหารทรัพย์สินหรือหุ้นส่วนนั้นแทนระหว่างที่นักการเมืองดำรงตำแหน่งทางการเมืองจนกว่าจะพ้นตำแหน่ง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน

นายประสงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายไม่ได้ห้ามให้รัฐมนตรีถือหุ้นใด ๆ แต่เพียงกำหนดให้ถือไว้ไม่เกิน 5% ของจำนวนหุ้นที่ถือ หากเกินจากนั้นต้องขายหรือลดสัดส่วนลง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ 2543 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2550 มาตรา 269 ที่มีผลบังคับใช้ เพียงแต่ในปัจจุบันหากทำเป็นสัญญามาตราฐานและมีทิศทางเดียวกันเท่านั้น

นายรพี สุจริตกุล ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับ Blind Trust มีอยู่ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แต่ที่ผ่านมา กฎหมายทั้ง 2 ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของคนกลางที่จะเข้ามาดูแลและทำหน้าที่ตรวจสอบว่ามีการกระทำความผิด หรือมีการครอบงำระหว่างตัวรัฐมนตรีและบริษัทจัดการที่รัฐมนตรีรายนั้นโอนหุ้นไปให้บริหารหรือไม่ รวมไปถึงอำนาจในการลงโทษด้วยว่าสุดท้ายแล้วตกไปอยู่กับใคร จึงอยากให้หน่วยงานที่เดียวข้องเข้ามาสร้างความชัดเจนในเรื่องนี้

ในขณะเดียวกัน กฎหมาย Trust เพื่อตลาดทุน ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่กำลังจะออกมาใช้บังคับ ควรจะต้องมีความชัดเจน โดยเฉพาะประกาศ ก.ล.ต.และบริษัทจัดการกองทุนที่ต้องรองรับกฎหมายในส่วนนี้ด้วย แต่ในส่วนของ บลจ.กสิกรไทยเอง มีความพร้อมอยู่แล้ว หากรัฐมนตรีให้บริษัทเป็นผู้บริหารทรัพย์สินในส่วนที่เกิน เพราะบริษัทมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคลอยู่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ