(เพิ่มเติม) กนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี 0.25%,ดอกเบี้ยแท้จริงยังติดลบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 9, 2011 15:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันนี้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที และย้ำว่า กนง.ยังจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบ 1% หลังปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายวันนี้ และเพื่อดูแลเงินเฟ้อที่คาดว่าในไตรมาส 3 - ไตรมาส 4 เงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นชัดเจน หลังสิ้นสุดมาตรการคุมราคาสินค้า

"ดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงหลังปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ ...เครื่องหมายลบจะอยู่กับเรา 1-2 ครั้ง กนง.ยังจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติ"นายไพบูลย์ กล่าว

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อมีมากขึ้นเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อน จึงได้มีการปรับสมมติฐานเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ขึ้นเป็น 3-5% จากเดิม 2.5-4.5% และประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 98.5 เหรียญฯ/บาร์เรล จาก 91.3 เหรียญฯ/บาร์เรล และปี 55 จะเพิ่มเป็น 100 เหรียญฯ/บาร์เรล

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในการประชุม กนง.ครั้งนี้ คณะกรมการฯ บางคนมองว่ามีความจำเป็นต้องดูแลการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชน ดังนั้น ธนาคารกลางจำเป็นต้องทำหน้าที่ของตัวเอง เพื่อให้ประชาชขนเกิดความมั่นใจในการดูแลเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ขณะที่คณะกรรมการบางคนมองว่าแรงกดดันของมาตรกการรัฐน่าจะทำให้แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น จึงมีการมองเผื่อไปว่าควรปรับดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 0.25%

แต่หลังจากพินารณาอย่างละเอียดแล้ว จากผลของตัวเลจขที่สำรวจผู้ประกอบการด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งต้นทุน คาดว่าจะไม่ได้พุ่งขึ้นมากเหมือนปี 50-51 ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้เป็นระยะ น่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสม

"คณะกรรมการฯ ประเมินว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไปยังมีความเหมาะสมที่จะดูแลการคาดการณ์เงินเฟ้อไม่ให้เร่งขึ้นและลดโอกาสที่จะเกิดความไม่สมดุลในระบบการเงินได้"นายไพบูลย์ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อรวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไป สำหรับเศรษฐกิจโลกยังมีแรงขับเคลื่อนต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากการประชุมครั้งก่อนตามการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของการจ้างงานภาคเอกชน และอัตราการว่างงานที่ลดลง เศรษฐกิจยุโรปขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับเสณษฐกิจเอเชียยังขยายตัวแข็งแกร่งจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ดีต่อเนื่อง

"หากสถานการณ์ในตะวันออกกลางไม่ลุกลามจนกระทบอุปทานน้ำมันในตลาดดลก ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เร่งขึ้นในระยะนี้ ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ"

สำหรับเศรษฐกิจไทย ตัวเลขล่าสุดชี้ว่ายังขยายตัวดีและมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากการส่งออกที่ยังขยายตัวดี การบริโภคภาคเอกชนที่ยังได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรและภาวะการจ้างงานที่ยังดีต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวตามภาคการผลิตและความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น รวมทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐที่ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ จากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเข้มแข็งดังกล่าว คณะกรรมการฯ จึงประเมินว่า ผลกระทบของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ คงไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย

"ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นจากปัญหาตะวันออกกลางยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและโลก สำนักพยากรนณ์เศรษฐกิจมองว่าราคาน้ำมันจะต้องขึ้นไปถึง 120-130 เหรียญฯ/บาร์เรล และยืนอยู่นาน ๆ ถึงจะมีผลกระทบ"นายไพบูลย์ กล่าว

ส่วนการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายไปยังอัตราดอกเบี้ยในระบบธนาคารจะใช้เวลามากน้อยเพียงใด ขึ้นกับการตัดสินใจของแต่ละธนาคาร แม้ว่าครั้งก่อนดอกเบี้ยในระบบธนาคารจะตอบรับแทบจะทันที ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ