(เพิ่มเติม) "ฟิทช์" ชี้เศรษฐกิจไทยรับมือภาวะผันผวนทั่วโลกได้ แต่ยังเผชิญความเสี่ยง

ข่าวต่างประเทศ Thursday September 1, 2011 17:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่นในการรับมือกับภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจทั่วโลก และภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าสิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ และอาจจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวและสถานะการคลังสาธารณะในระยะยาวได้

นายแอนดรูว์ คอลคูห์น ผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าฝ่าย Asia-Pacific Sovereigns ของฟิทช์ กล่าวในการประชุมครบรอบ 10 ปีของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯว่า แม้ช่องว่างของไทยกับประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วลดลง ซึ่งคล้ายกับตลาดเกิดใหม่หลายประเทศ แต่จังหวะของการพัฒนากำลังชะลอตัวเนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ รวมทั้งปัจจัยเฉพาะประเทศ เช่น ปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง

แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจะมีอิทธิพลต่อการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ แต่ขณะนี้ อันดับความน่าเชื่อถือยังคงถูกจำกัดด้วยความไม่แน่นอนต่างๆในประเด็นที่ว่า การเลือกตั้งที่ผ่านพ้นไปเมื่อไม่นานนี้ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองลงได้มากหรือไม่ นอกจากนี้ ฟิทช์เชื่อว่า การรอดูสัญญาณที่ชัดเจนกว่านี้เกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่จะเป็นการดำเนินการที่รอบคอบมากกว่า

มาร์ค ยัง กรรมการผู้จัดการของฟิทช์และหัวหน้ากลุ่ม Asia-Pacific Bank กล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิคที่ระบบธนาคารของประเทศอยู่ในจุดดีพอสมควรที่จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายมากขึ้นเหล่านี้ แนวโน้มการขยายตัวที่ชะลอตัวลงทั่วโลกอาจช่วยผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคได้ในแง่ของการขยายตัวด้านสินเชื่อที่ชะลอตัวลงและโอกาสเกิดภาวะฟองสบู่ด้านสินทรัพย์ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากการที่จีนและประเทศอื่นๆในเอเชียแปซิฟิคมีความเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น การชะลอตัวของจีนจึงถือเป็นปัจจัยลบสำหรับภูมิภาค

ด้านวินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือทั้งในภาคเอกชนและธนาคารของไทยโดยรวมอยู่ในเชิงบวก เนื่องจากการปรับโครงสร้างองค์กรและการปรับโครงสร้างเงินทุนใหม่ ภายหลังจากที่เกิดวิกฤตการเงินในเอเชียเมื่อปี 2540-2542 นอกจากนี้ การขยายตัวปานกลางในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนมาถึงวิกฤตการเงินโลกในปัจจุบัน ส่งผลให้ธนาคารและเอกชนของไทยอยู่ในจุดที่สามารถรับมือกับภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจและการเงินได้ดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ